ชาติพันธุ์มลายู ι ปัตตานีดารุสลาม ι จากปัตตานีสู่ปากลัด ι ตามรอยถิ่นบรรพชน
จากปัตตานีสู่ปากลัด 1 Ι 2 Ι 3 Ι 4 Ι 5 Ι 6
บันทึกนี้ผมขอนำข้อมูลจากการค้นคว้าจากแหล่งต่างๆมาให้ท่านได้ศึกษา จะยาวสักนิด เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานที่จะเล่ารายละเอียดจากพื้นที่จริงๆให้ท่านได้รับทราบ พรุ้งนี้จะเป็นที่มาที่แคบลงไปกว่าเดิม นะครับชุมชนชาวมุสลิมใน อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ นอกจากจะเป็นเมืองปราการสำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว ในปัจจุบันยังเป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางกลุ่มชนผู้นับถือศาสนาต่างกัน รวมถึงชาติพันธุ์ต่างๆด้วย ไม่เพียงแต่ชาวมอญ ชาวจีน และกลุ่มคนที่อาศัยการผ่านทางจากเมืองท่าสำคัญในอดีตเข้าสู่แหล่งการค้าในกลางเมืองพระนครแล้ว ยังมีคนไทยที่นับถือศาสนาอิสลามอาศัยอยู่มาพร้อมกับการก่อตั้งเมืองอีกด้วย ด้วยเหตุของความหลากหลายนี้ ทำให้นำไปสู่การศึกษาถึงประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตบนความแตกต่างที่สามารถยืนยาวมาจนปัจจุบันด้วยความสงบสุขสันติ จากการค้นคว้าในเบื้องต้นและคำบอกเล่าในสายตระกูลทำให้ทราบว่า ชาวมุสลิม พระประแดงที่อาศัยอยู่ใน บ้านปากลัด นี้ คือทั้ง ปาก(คลอง)ลัดโพธิ์ และปาก(คลอง)ลัดหลวง ว่ามีประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานเป็นเวลาหลายชั่วอายุคน คือตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายที่มาจากเมืองมะละกาปลายแหลมมลายูและที่มาจากอินเดีย โดยได้แต่งงานกับชาวมอญ ชาวสยาม ในสายตระกูลที่รู้จักกันในนามพวกแขกเก่า ดังปรากฏชุมชนและกุโบร์ หรือสุสานดั้งเดิมทั้งสองฝั่งของปากคลองลัดโพธิ์ ในบรรดากลุ่มนี้บ้างยังนับถืออิสลาม เช่น ในสกุลของ นายสุไลมาน วงษ์-พานิช อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บ้างก็เปลี่ยนเป็นพุทธศาสนิกชน เช่น ในสกุลยังเจริญ สกุลไวทยานนท์เป็นต้น ส่วนมุสลิมอีกกลุ่มที่เป็นชาติพันธ์มลายู ซึ่งเป็นกลุ่มมุสลิมส่วนใหญ่ทั้งในบ้านปากลัดและภาคกลางของประเทศ ที่สืบทอดต่อกันมาว่าบรรพบุรุษมีที่มาจากผลของสงครามประเพณีระหว่างสยามกับปัตตานีเมื่อ พ.ศ.2329 โดยบุคคลในชุมชน บ้านปากลัด นี้เป็น โต๊ะครู ผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญทางด้านวิชาการศาสนาอิสลามเป็นอย่างมาก จนมีคำกล่าวของนักวิชาการในอดีตว่า ในทวีปนี้ จะหาผู้ใดที่มีความรู้มากไปกว่า ครูมุสตอฟา (บ้าน)ปากลัด กับโต๊ะครูกะบาลี ประเทศมาเลเซีย ไม่มีอีกแล้ว ท่านโต๊ะครูมุสตอฟาหรือ โต๊ะจำปา ท่านโต๊ะกีดำ การีมี ซึ่งชาวมอญและชาวจีนชนต่างศาสนาในตลาดเมืองพระประแดงได้ให้ความเคารพนับถืออย่างมากเป็นที่ทราบกันว่าในอดีตหากจะเรียนรู้ด้านวิชาการศาสนาอิสลามในภาคกลางนี้ ปอเนาะ บ้านปากลัด จะเป็นที่รู้จักเป็นอย่างมากของผู้แสวงหาความรู้ทุกท่าน เช่น ครูต่วน สุวรรณศาสตร์ จุฬาราชมนตรี ท่านที่13 ก็เคยมาเรียนหนังสืออยู่ใน บ้านปากลัด ด้วยเช่นกัน สำหรับชนรุ่นปัจจุบัน เช่น ท่านแช่ม พรหมยง หนึ่งในคณะราษฎร์ และจุฬาราชมนตรี ท่านที่ 12 ท่านอิหม่ามอับบาส (แชบะฮ์) แสงวิมาน ท่านโต๊ะกีดำ การีมี และท่านครูฉ่ำ เป็นต้น ความสำคัญของระบบเครือญาติที่ทำให้การสืบสายตระกูลสามารถกล่าวว่า มีการขยายครอบครัวไปสู่พื้นที่โดยรอบหรือแม้แต่จังหวัดใกล้เคียง อันเป็นเครื่องยืนยันการตั้งมั่นของชาวมุสลิม พระประแดงในหลากหลายด้าน ทั้งด้านการศึกษา และชีวิตความเป็นอยู่ และด้วยอาชีพทางเกษตรประกอบความหนาแน่นของชุมชนในบ้านปากลัดแห่งนี้ก็ได้อพยพหรือขยายชุมชนไปอยู่ในท้องที่ต่างๆ เช่นเขตทุ่งครุ แขวงบางมด จ.นนทบุรี จ.อยุธยา จ.ปทุมธานี จ.นครศรีธรรมราช ฯลฯ ชุมชนมุสลิมในปากลัดนี้จึงนับได้ว่าเป็นชุมชน มลายูมุสลิมแห่งแรกๆ ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของชาวมุสลิม ประเทศไทย มุสลิม หรือ ที่เรียกกล่าวสั้นๆ ว่าแขกนั้น เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้อาศัยและเข้ามาอาศัยในแผ่นดินสุวรรณภูมินับย้อนไปได้หลายร้อยปี ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย เรื่อยมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันมีชาวไทยมุสลิมอยู่ในราชอาณาจักรไทย รวม 7 ชาติพันธุ์ ได้แก่ มลายู มักกะสัน เปอร์เซีย มะหง่น จาม อาหรับ ตุรกี รวมจำนวนประมาณ 3.4 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 5.8 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งบรรพบุรุษมุสลิมต่างร่วมสร้างบ้านสร้างเมืองคู่กับชาวไทยพุทธเช่นเดียวกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ อาทิ ชาวมอญ มาหลายยุคหลายสมัย บ้างได้รับราชการในราชสำนัก มีบรรดาศักดิ์ เป็นขุน เป็นพระยา และเป็นต้นตระกูลสำคัญๆ หลายตระกูลของชาวไทย มีการแต่งงานข้ามชาติพันธุ์ มีการเปลี่ยนศาสนา หลายตระกูลที่เป็นชาวไทยพุทธในปัจจุบัน มีต้นตระกูลมาจากมุสลิม ในการตั้งถิ่นฐาน และการขยายครัวเรือนของชาวมุสลิมสมัยโบราณไม่ต่างกับหลายชนชาติมอญ ฉาน ลาว จีน เวียดนาม โดยเป็นพ่อค้าวาณิชเข้ามาค้าขาย อพยพหนีการรุกรานจากถิ่นอื่น ตลอดจนการรวบรวมหัวเมืองของอาณาจักรไทยในยุคต่างๆ จนกลายเป็นราชอาณาจักรไทยในปัจจุบัน ทำให้ประเทศไทยเป็นดินแดนของความหลากหลายทางวัฒนธรรม ศาสนา คติความเชื่อ และหลายสิ่งหลายอย่างก็ได้กลายกลืนกัน ถ่ายทอดทางวัฒนธรรมกันไปมา จนบางครั้งแทบแยกไม่ออกว่ามีที่มาจากกลุ่มชาติพันธุ์ใด รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ กล่าวว่า องค์ความรู้เกี่ยวกับชาวไทยชาติพันธุ์ต่างๆ ในแผ่นดินไทย รวมทั้งชาวไทยมุสลิมจึงสมควรได้รับการรวบรวมไว้อย่างเป็นระบบ และในมิติที่กว้างขวาง ทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ ศาสนา สังคม อารยธรรม ศิลปวัฒนธรรม และอัตลักษณ์ทางภาษา โดยมุ่งหวังให้สังคมได้ทราบและตระหนักว่าพี่น้องมุสลิม ก็คือคนไทยส่วนหนึ่งที่หล่อหลอมเป็นเนื้อหนึ่งอันเดียวกันในสังคมไทยมาช้านาน มีบูรณาการร่วมกันในสิ่งที่เราเรียกว่าความเป็นไทยในปัจจุบันอย่างกลมกลืนจนกล่าวได้ว่า ความเป็นไทยในปัจจุบันไม่สามารถที่จะแยกความเป็นมุสลิมออกไปได้ อันเป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่เราอาจมองไม่เห็นหรือหลงลืมไป การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับมุสลิมกับสังคมไทยในมิติต่างๆ อย่างรอบด้าน การเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างชาวไทยพุทธ ชาวไทยมุสลิม และชาวไทยศาสนิกชนอื่นๆ จะเป็นส่วนช่วยให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขในท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรมของสังคมไทย ชาวมุสลิมมีประวัติศาสตร์ของการตั้งถิ่นฐานและขยายพื้นที่ไปยังลุ่มน้ำต่างๆ ที่การเดินเรือสามารถไปถึง โดยเฉพาะเมืองท่าสำคัญๆ ซึ่งเป็นเหตุผลในเรื่องของการทำการค้า และการขยายพื้นที่ในการตั้งถิ่นฐาน เห็นได้ชัดเจนที่อำเภอพระประแดง เมืองสำคัญทางประวัติศาสตร์ของกรุงรัตนโกสินทร์ ความเป็นอยู่อย่างหลากหลายของความเชื่อ วิถีชีวิตที่มีลักษณะเฉพาะของคนหลายเผ่าพันธุ์ที่อาศัยเมืองป้อมปราการที่สำคัญของไทยนี้ ได้เผยคุณลักษณะของความกล้าหาญและมีคุณสมบัติที่ควรเป็นแบบอย่างของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติที่ผ่านมาแม้ว่าจะพบความหลากหลายทางชนชาติ ศาสนา ในแหล่งชุมชนอื่นๆที่กระจัดกระจายอยู่ในเมืองใหญ่ อย่างกรุงเทพมหานคร แต่จากการลงพื้นที่สำรวจชีวิตความเป็นอยู่ของกลุ่มคนในเขตอำเภอพระประแดง ทำให้พบว่า ผู้นำชุมชนมีความตระหนักถึงการปรับตัวอยู่เสมอ เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าของการอยู่ร่วมกัน ไม่ว่าจะมีความแตกต่างของวิถีชีวิตเช่นไรก็ตาม ชาวมุสลิมได้หยั่งรากฐานมายาวนานและหยั่งลึกถึงวัฒนธรรมของท้องถิ่นทำให้ชาวมุสลิมในลำดับต่อๆ มาที่ขยายครอบครัว และตั้งถิ่นฐานบริเวณลุ่มน้ำโดยรอบ ตลอดจนจังหวัดใกล้เคียง ยังคงเชื่อมสัมพันธ์ในฐานะครอบครัว ความร่วมแรงร่วมใจกันนี้เป็นบุคลิกสำคัญที่ควรได้รับการสนับสนุนให้เกิดความเข้าใจสอดประสานบนความต่างทางวัฒนธรรม ดังนั้น การศึกษาถึงความเชื่อมโยงทางเครือญาติและวิถีที่น่าทึ่งของชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ที่อำเภอพระประแดง สมุทรปราการนี้จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจการเดินทางเบื้องต้นของชาวมุสลิมในสมัยโบราณเพื่อพอทำให้เข้าใจถึงลักษณะจำเพาะบางประการที่ยังปรากฏในอนุชนชาวมุสลิมยุคปัจจุบัน
ชาวมุสลิมในสมัยสุโขทัย
ประวัติศาสตร์การเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวมุสลิมมายังประเทศในแถบเอเชียอาคเนย์นี้ พบว่า ชนชาติอาหรับได้พบเส้นทางการเดินเรืออาเอเชียก่อนพวกยุโรป ในชั้นแรกราวคริสต์ศตวรรษที่ 13 พ่อค้าชาวมุสลิมได้มาตั้งสถานีการค้าที่เมืองคุชราตทางชายฝั่งตะวันตกของอินเดียเพื่อเป็นที่พักการเดินเรือมายังเอเชียอาคเนย์ ในการตั้งรกรากที่คุชราตนี้ พวกอาหรับก็สามารถกลมกลืนกับอารยธรรมของอินเดียที่เมืองคุชราตไว้ได้ พวกเขาได้กลายเป็นมุสลิม ต่อจากนั้น ชาวมุสลิมได้เดินทางมาเอเชียอาคเนย์ โดยการมาตั้งรกรากอยู่แถบมะละกา โดยการเข้ามาอยู่ร่วมกับคนในท้องถิ่นและเผยแพร่วัฒนธรรมทางศาสนาเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป และฝังรากลึกทางวัฒนธรรมทีละน้อย มีการแต่งงานกับชนพื้นเมือง มีลูกหลานและสามารถควบคุมอำนาจการเดินเรือที่ช่องแคบมะละกาในที่สุด
ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น อารยธรรมที่รุ่งเรืองคืออาณาจักรสุโขทัย โดยอ้างอิงจากหลักศิลาจารึกสมัยพ่อขุนรามคำแหงกล่าวถึงกองทัพของกรุงสุโขทัยได้เคยยกทัพลงมาตีทางใต้ทางแถบคาบสมุทรมาเลย์ ในจดหมายเหตุจีนสมัยราชวงศ์เหมง (Ming) กล่าวว่า “จีนได้รับบรรณาการจากพระราชาแห่งแคว้นมะละกา และพระองค์ได้ขอร้องให้จักรพรรดิ์จีนยกทัพไปช่วยพระองค์ทำสงครามกับกองทัพไทย” ในเรื่องของการติดต่อกันนั้น ไม่ใช่เพียงเรื่องของการศึกสงครามเท่านั้น หากแต่ยังมีเรื่องของการค้าที่มีพ่อค้าชาวเปอร์เซียอิหร่าน หรืออาหรับ มาตั้งรกรากทำการค้าในกรุงสุโขทัยแล้ว ด้วยเหตุที่ ชาวอาหรับมีความสามารถในการเดินเรือ จึงสามารถเดินเรือเข้ามายังอ่าวสยามได้
จากหลักฐานทางงโบราณคดีพบว่า ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงได้กล่าวถึงคำหนึ่งคือ ตลาดปาส่าน ที่ตั้งอยู่ปากประตูเมือง คำนี้มาจากภาษาเปอร์เซียที่นับถือศาสนาอิสลามอย่างแน่นอน คำนี้คือ “Baraar” ซึ่งหมายถึงตลาดซึ่งมีร้านขายของเรียงรายอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังพบเครื่องสังคโลกซึ่งเป็นสินค้าเอกลักษณ์สำคัญของกรุงสุโขทัยปรากฏในประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม เป็นหลักฐานที่สะท้อนถึงการรับส่งทั้งเรื่องของรสนิยมและการค้าที่เชื่อมโยงของการตั้งถิ่นฐานของชาวมุสลิมและชาวท้องถิ่นเดิมในกรุงสุโขทัย
ชาวมุสลิมในสมัยอยุธยา
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีชุมชนมลายูตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามกับกำแพงเมืองด้านทิศใต้ และทิศตะวันตกเฉียงใต้ ชาวมลายูมุสลิมเหล่านี้มีทั้งที่เข้ามาประกอบการค้า และอพยพเข้ามา เพราะปัญหาการเมือง โดยถูกกวาดต้อนหรืออพยพลี้ภัยเข้ามา จึงประกอบด้วยคนหลากหลายอาชีพและชนชั้น บางกลุ่มมีเจ้านายของตัวเองเข้ามาอยู่ด้วย เช่น พวกมักกะสัน (มลายูจากเกาะมากัสซาร์) มุสลิมเชื้อสายมลายูที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในสยามมีทั้งพวกที่เป็นพ่อค้า และพวกทาส ในหนังสือ “The Suma Oriental” ของโตเม ปิเรส ระบุว่า พ่อค้าปัตตานี เคดะห์ กลันตัน ตรังกานู ค้าขายกับจีน และพวกมัวร์ (อาหรับ-เปอร์เซีย-อินเดีย) โดยผ่านสยาม และยังระบุว่าสินค้าจากมะละกาที่เข้ามาค้าขายในสยาม ประกอบด้วยทาสหญิง และทาสชาย แสดงว่าพวกมลายูส่วนหนึ่งคงถูกขายเป็นทาส เพื่อนำมาใช้แรงงานในสยามตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น ในบันทึกของเชอวาลิเยร์ เดอ โชมองต์ ราชทูตฝรั่งเศส สมัยสมเด็จพระนารายณ์ ระบุว่า ชาวมลายูในสยามส่วนใหญ่เป็นทาส นอกจากนี้ ยังมีพวกเชลยศึกที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาเนื่องจากสงครามระหว่างรัฐมุสลิม ในคาบสมุทรมลายู และสยาม ซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว ชุมชนของประชาคมมุสลิมเชื้อสายมลายูตั้งอยู่บริเวณคลองตะเคียน ซึ่งเป็นพื้นที่นอกกำแพงพระนคร จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น ยืนยันได้ว่าชาวมลายูมุสลิมได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในกรุงศรีอยุธยานมนาน แล้ว และมิใช่เฉพาะที่กรุงศรีอยุธยาเท่านั้น หากยังมีชุมชนมุสลิมเชื้อสายมลายูเช่นกัน ตั้งชุมชนในคลองบางกอกใหญ่ ตั้งแต่ ก่อนรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ. 2153- 2177 หรือ ค.ศ. 1610-1628) สงครามระหว่างอยุธยากับหัวเมืองมลายูนั้นเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชสมัย สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ ว่า “ศักราช 817 กุญศก แต่งทัพให้ไปเอาเมืองมลากา” แต่การศึกครั้งนั้นไม่ประสบความสำเร็จ เหตุการณ์ตามพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ นี้เกิดขึ้นในปีพุทธศักราช 1998 ซึ่งเกิดขึ้นก่อนการครองราชย์ของพญาตู นักปา หรือ ราชาอินทิรา (Raja Intira) ต้นราชวงศ์ศรีวังสาของปัตตานี (พ.ศ. 2012-2057)บ้าง ก็ระบุว่า ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 2043-2073 ภายหลังราชาอินทิราเปลี่ยนมารับนับถือศาสนาอิสลาม และเฉลิมพระนามใหม่ว่า สุลต่านอิสมาแอล ชาห์ (Sultan Ismail Syah) ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ (พ.ศ. 2091-2111) สุลต่าน มุซ๊อฟฺฟัร ชาห์ (ราชโอรสในสุลต่านอิสมาแอล ชาห์ ซึ่งสืบอำนาจต่อมา) ได้นำทหารปัตตานีบุกพระราชวังหลวงของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งขณะนั้นสยามกำลังติดพันศึกอยู่กับหงสาวดี
หลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญของชาวมุสลิมโดยการขุดค้นพบของกรมศิลปากรที่พระเจดีย์ที่วัดราชบูรณะ ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยของเจ้าสามพระยา ได้แก่ เหรียญทอง 2 เหรียญมีอักษรอาหรับจารึกอยู่ ปรากฏว่าเป็นเหรียญทองคำที่ทำขึ้นในประเทศ แคชเมียร์ในรัชสมัยของกษัตริย์อิสลามทรงพระนามว่า พระเจ้าไซนูอาปิดิน ด้วยหลักฐานสำคัญนี้เป็นเครื่องยืนยันความสำคัญของชนชั้นผู้นำระดับสูงที่ยืนยันการเชื่อมต่อ และอิทธิพลของชาวมุสลิมในช่วงเวลานั้นสำหรับหลักฐานที่แน่ชัดที่สุดที่เกี่ยวกับศาสนาอิสลามในสมัยอยุธยาคือ ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นช่วงเวลาที่ทำการค้ากับชาวยุโรปเป็นจำนวนมาก มีการบันทึกไว้ในพงศาวดารและจดหมายเหตุ ปรากฏว่ามีข้าราชการที่เป็นชาวมุสลิมเข้ามาทำงานในราชสำนักแล้ว อาทิ พระศรีมโนราช ซึ่งเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดินในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ พระศรีมโนราชสนับสนุนพวกที่นับถือศาสนาอิสลามเช่นเดียวกับตน เช่นขายผ้า ชาวแขกมัวร์และแขกเปอร์เซียก็จะได้ทำเสียหมด และยังสนับสนุนให้มีการตั้งถิ่นฐานของชาวมุสลิมตามหัวเมืองสำคัญๆและหากศึกษาจากคำบอกเล่าพบว่าเมื่อกรุงศรีอยุธยาแตกแล้ว ชาวไทยหลายพวกรวมทั้งมุสลิมด้วย จำนวนมากก็อพยพลงมาทางใต้ของกรุงศรีอยุธยาตามลำน้ำเจ้าพระยา ชาวมุสลิมได้มาตั้งหลักแหล่งที่คลองบางกอกใหญ่ ในหนังสือ ประวัติมัสยิดต้นสนที่เล่าถึงประวัติของมัสยิดต้นสน ซึ่งเป็นมัสยิดศูนย์กลางของชุมชนมุสลิมสำคัญแห่งหนึ่งในสมัยอยุธยาตอนปลาย กล่าวว่า บริเวณคลองบางกอกใหญ่ ฝั่งธนบุรีมีพวกมุสลิมตั้งภูมิลำเนาค้าขายมาตั้งแต่สมัยอยุธยา มุสลิมกลุ่มนี้กล่าวว่า พวกเขาเข้ามาตั้งชุมชนในคลองบางกอกใหญ่ตั้งแต่ก่อนรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรง ธรรม (พ.ศ. 2153-2177) โดยกล่าวถึงกระดานไม้จารึกภาษาอาหรับ ซึ่งถูกไฟไหม้บางส่วนครั้งเสียกรุง ได้ลอยน้ำมาและมุสลิมคลองบางกอกใหญ่เก็บรักษาไว้ที่มัสยิดต้นสนจนบัดนี้ มุสลิม แถบมัสยิดต้นสนคงตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่ในสมัยอยุธยาแล้ว เพราะจากบันทึกประวัติขุนนางมุสลิมกรมท่าขวาในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นระบุ ว่า ครั้งที่พวกเขาอพยพหนีสงครามมาจากกรุงศรีอยุธยา ก็ได้อาศัยอยู่แถบกุฎีใหญ่หรือมัสยิดต้นสน ร่วมกับมุสลิมกลุ่มเดิมริมคลองบางกอกใหญ่ มีปรากฏในสมุดข่อยโบราณ บันทึกข้อความไว้ว่า
“เจียมลูกพ่อเดช มันถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารของพระเจ้าทรงธรรมที่กรุงศรีอยุธยา อุตส่าห์ส่งผ้าโสร่งตาหมากรุกมาให้พ่อของมันถึงบางกอกใหญ่จนได้” คำว่า กระฎีใหญ่ เป็นชื่อย่อมาจาก กะฎีบางกอกใหญ่ ชาวมุสลิมที่นี่อพยพมาจากหัวรอหรือแถบคลองตะเคียน พระนครศรีอยุธยาคำว่า“มัสยิดต้นสน” นั้นเพิ่งมาเรียกกันในชั้นหลัง เมื่อรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยหลวงโกชาอิสหาก มหาดเล็กในรัชกาลที่ ๓ ได้ทำการตอนต้นสนซึ่งอยู่ในพระบรมมหาราชวัง นำมาปลูกไว้ที่หน้าบริเวณประตูของมัสยิดทั้งสองด้าน ต่อมาต้นสนคู่นี้ได้เติบโตสูงชะลูด เป็นที่สะดุดตาของผู้พบเห็นได้ง่าย จึงเรียกมัสยิดต้นสนตั้งแต่บัดนั้นมา บ้างก็ว่า มัสยิดบางกอกใหญ่นี้มีประวัติว่า “โต๊ะสน” ซึ่งเป็นคหบดีเป็นผู้ก่อสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ ต่อมาคงเรียกเพี้ยนจากมัสยิดโต๊ะสนเป็นมัสยิดต้นสน
สำหรับชาวมุสลิมที่ปากลัดเมืองพระประแดง มีหลักฐานระบุเช่นกันว่า เป็นแหล่งที่ชาวมุสลิมดั้งเดิมที่อพยพมาจากกรุงศรีอยุธยา เมื่อครั้งกรุงแตกได้เข้ามาตั้งหลักแหล่ง เพราะเป็นเมืองที่เคยอยู่ในเส้นทางการอพยพตามลำน้ำเจ้าพระยา เมืองพระประแดง เป็นเมืองหน้าด่านทางทิศใต้ ตั้งมาแต่ครั้งสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง กรุงศรีอยุธยา ในแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม ระหว่าง พ.ศ. 2163-2171พระองค์ทรงมีพระราชดำริว่า เมืองพระประแดงอยู่ห่างปากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามามาก… จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองสมุทรปราการให้เป็นเมืองหน้าด่านทางทิศใต้แทนต่อไป
ชาวมุสลิมในสมัยธนบุรี-สมัยรัตนโกสินทร์ในสมัยกรุงธนบุรี มีข้าราชการชาวมุสลิมที่มีอำนาจมากได้แก่ เจ้าพระยาจักรี (หมุด) ซึ่งในประวัติศาสตร์เรียกนามท่านว่า “เจ้าพระยาจักรี แขก” บุคคลผู้นี้ได้ถวายตัวเข้าทำงานในสมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร์ กรุงศรีอยุธยา ต่อเมื่อกรุงแตก ท่านกำลังไปส่งส่วยอากรที่จันทบุรี และพักอยู่ที่นั่น จนกระทั่งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ท่านจึงถวายตัวเข้ารับราชการในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี จนกระทั่งถึงแก่อนิจกรรมในแผ่นดินนั้น ศพของท่านยังคงฝังอยู่ด้านหลังของมัสยิดต้นสน เจริญพาศ ธนบุรี และในสมัยกรุงธนบุรีก็ยังมีแม่ทัพเรือที่เป็นชาวมุสลิมด้วยเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ครองกรุง ธนบุรีแล้ว พระองค์ได้ทรงมีพระบัญชาให้รื้อถอนกำแพงเมืองพระประแดงเดิมไปก่อกำแพง พระราชวังธนบุรี และอื่นๆ ต่อมาในรัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามเมืองใหม่ว่า เมืองนครเขื่อนขันธ์ (คัดลอกและย่อมาจากหนังสือของจังหวัดสมุทรปราการจากหอสมุดแห่งชาติ) ในภายหลังเมื่อลุต้นกรุงรัตนโกสินทร์ฯ แล้ว ชาวมุสลิมจากปัตตานีได้ถูกจับเป็นเชลยและถูกนำมาไว้ที่ปากลัดนี้อีกส่วนหนึ่งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยรัชกาลที่ 1 มีบุคคลสำคัญที่เป็นชาวมุสลิมรับราชการและมีผลงานโดดเด่น อาทิพระยาราชบังสัน (บ่อ) บุคคลผู้นี้เคยเป็นแม่ทัพเรือไปปราบขบถแข็งเมืองที่ปัตตานี ในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้แก่ หลวงโกชาอิศพาก ล่ามต่างประเทศในสมัยรัชกาลที่ 3 ในสมัยรัชกาลที่ 6 บุคคลสำคัญของชาวมุสลิมได้แก่ พระยา อะหมัดจุฬา ต้นตระกูลอะหมัดจุฬา หลวงลักษมาณา (หม่าน) ต้นตระกูลมานะรัด ขุนโยธาสมุทร (ด่ำ) ต้นตระกูลโยธาสมุทร เป็นต้น จากประวัติศาสตร์ของการตั้งถิ่นและการมีบทบาทในสังคมของชาวมุสลิม ล้วนผูกอยู่กับการทำการค้าและการรับราชการ ในช่วงเวลาของการสร้างบ้านแปงเมือง การที่มีผู้นำของชุมชนนับถือศาสนาย่อมส่งผลกับการได้รับการอุปถัมภ์และการสืบต่อไปโดยปริยายด้วยหลักฐานการศึกษาที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ทำให้เห็นภาพรวมของการเข้ามามีบทบาทสำคัญของชาวมุสลิมในอาณาจักรต่างๆ ด้วยเหตุสำคัญทางการค้า และการรับราชการซึ่งอาชีพทั้งสองนี้ล้วนแต่มีอิทธิพลต่อชีวิตความเป็นอยู่ทั้งสิ้น ซึ่งที่ผ่านมาการเผยแพร่ศาสนาของชาวมุสลิมเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ด้วยการแต่งงานและการยอมรับเปลี่ยนศาสนาเองของคนท้องถิ่นเดิม
ชาวมุสลิมในอำเภอพระประแดงชาวมุสลิมที่ตั้งถิ่นฐานที่พระประแดงต่างออกไปจากประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานในอดีต จากที่เคยแล่นเรือทำการค้า หรือการรับราชการมาสู่การตั้งถิ่นฐานเพราะการอพยพ ชาวมุสลิมที่ถูกอพยพมาด้วยเหตุทางสงคราม ได้ถูกแบ่งเมื่อถึงบางกอกลูกหลานสุลต่านแห่งปัตตานีก็ได้ถูกนำไปอยู่หลังวัดอนงคารามฝั่งธนบุรีซึ่งบริเวณดังกล่าวเรียกกันว่า บ้านแขกมลายูหรือ “บ้านแขก” ปัจจุบันคือสี่แยกบ้านแขก(บ้านสมเด็จเจ้าพระยาธนบุรี) ส่วนเชลยที่เป็นคนธรรมดาสามัญก็ถูกเกณฑ์ไปใช้แรงงานโดยขุดคลองแสนแสบและจัดที่ให้ทำไร่ทำนารอบๆ พระนครเช่นพื้นที่เขต ปทุมธานี หนองจอก มีนบุรี ปากลัดพระประแดง ชุมชนหรือเรียกชื่อหนึ่งว่าบ้านปากลัด เป็นชุมชนมุสลิมเก่าแก่ที่สุดในจังหวัดสมุทรปราการ พี่น้องมุสลิมที่นี้แบ่งออกเป็น 2 รุ่น คือ มุสลิมรุ่นแรกอยู่มาตั้งแต่เดิม ก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นมุสลิมที่มีเชื้อสายที่มาจากมะละกา จากประเทศอินเดียซึ่งเดินทางมาค้าขายและปักหลักมาช้านาน บริเวณฝั่งตลาดพระประแดง ซึ่งปัจจุบันลูกหลานคนกลุ่มนี้ไปนับถือศาสนาพุทธ ส่วนมุสลิมรุ่นที่สองนั้นมาอยู่ในราว 229 ปี ช่วงตอนต้นรัชกาล ที่ 1 ของกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2329 ซึ่งเป็นเชลยศึก ที่ถูกจับมาจากเมืองปัตตานี เนื่องจากเจ้าเมืองปัตตานีเป็นฝ่ายแพ้สงคราม เชลยศึกที่นำมาบ้านปากลัดนั้น ส่วนมากจะเป็นคนที่ค่อนข้างมีความรู้ทางด้านศาสนา จากนั้นก็ได้มีญาติพี่น้องจากปัตตานีมาเยี่ยมแต่ไม่ได้กลับไป จนกลายเป็นชุมชนมุสลิมขึ้น คู่กับชาวมอญที่หนีภัยสงครามมาอยู่ที่ปากลัด สังคมในยุคแรกใช้ภาษามลายูเป็นหลัก เป็นสังคมเกษตร ทำนาทำสวนหาปลา พึ่งพาธรรมชาติ การเดินทางใช้แม่น้ำลำคลองเป็นทางสัญจร จากการที่เป็นเชลยจะทำกิจกรรมบางอย่างทำได้ยาก การรวมตัวกันมากๆ ก็จะถูกทางการเพ่งเล็งตลอดเวลา ด้วยกับสาเหตุที่เป็นเชลยศึกเกรงว่าถ้ารวมตัวกันจะเกิดการแข็งเมืองขึ้นมาอีก
ในตอนต้นของกรุงรัตนโกสินทร์ ได้เกิดสงครามกับเมืองตานี ไทยได้ยกทัพไปปราบเมื่อ พ.ศ. 2329 (ค.ศ. 1786) การสงครามติดพันกันหลายครั้ง ไทยได้อพยพชาวปัตตานี มาไว้ตามที่ต่างๆ เช่น ที่ท่าทอง ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี สี่แยกบ้านแขกในจังหวัดธนบุรี ทุ่งครุ ในอำเภอพระประแดง ท่าอิฐในจังหวัดนนทบุรี บางคอแหลม มหานาค พระโขนง คลองตัน เมืองมีน หนองจอก และตามริมคลองไร่นาในย่านนั้นในจังหวัดพระนคร คลอง 16. 18. 21, 22, 24 ในจังหวัดนครนายก และฉะเชิงเทรา เป็นต้น ปากลัด หรือ อำเภอพระประแดง ซึ่งเมืองพระประแดงเป็นเมืองเก่าแก่มีมาตั้งแต่ สมัยขอมเรืองอำนาจ เป็นเมืองหน้าด่านทางทิศใต้ของขอม ซึ่งตั้งอยู่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา และคงเป็นเมืองหน้าด่านมาตลอดจนถึงปี พ.ศ. 1600 ขอมจึงหมดอำนาจลง จนถึงสมัยอาณาจักรสุโขทัย เมืองพระประแดง ก็ยังคงเป็นเมืองหน้าด่านทางทิศใต้อยู่ตลอดสมัยสุโขทัย (พ.ศ. 1800-1921) สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงอธิบายไว้ว่า ”เมืองพระประแดงที่ขอมสร้างขึ้นครั้งนั้น ตั้งอยู่ที่ตำบลราษฎร์บูรณะใกล้ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา หากแต่เมื่อเนิ่นนานมา พื้นดินค่อยๆ งอกขึ้นจนตื้นเขินและยื่นออกไปในทะเล” การที่ขอมขนานนามเมืองหน้าด่านแห่งนี้ว่า “พระประแดง” นั้นคำว่า “ประแดง” หรือ “บางแดง” นั้นปทานุกรมของกระทรวงธรรมการแปลไว้ว่า คนเดินหมาย. คนนำข่าว, ทูต, พนักงานตามคน ในสมัยกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าอู่ทอง ได้ตั้งเมืองพระประแดง เป็นเมืองหน้าด่าทางทิศใต้ ในแผ่นดิน “พระเจ้าทรงธรรม” ระหว่างปี พ.ศ. 2163-2171 พระองค์ทรงมีพระราชดำริว่า เมืองพระประแดงอยู่ห่างปากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามามาก พื้นดินตื้นเขินออก ยื่นออกไปในทะเล หากมีข้าศึกยกกองทัพเรือล่วงล้ำเข้ามา การลาดตระเวนตรวจด่านจะลำบากมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองสมุทรปราการให้เป็นเมืองหน้าด่านทางทิศใต้แทนต่อไป
ในสมัยกรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ครองกรุงธนบุรีแล้ว พระองค์ได้ทรงมีพระบรมราชโองการ ให้รื้อถอนกำแพงเมือง พระประแดงเดิม ไปก่อกำแพงพระราชวังธนบุรี (พระราชวังเดิม) และอื่นๆ ดังนี้เมืองพระประแดงเดิมจึงสิ้นซากนับแต่นั้นมา ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ขณะนั้น บ้านเมืองยังติดพันการศึกหลายด้าน จึงมีความจำเป็นต้องสร้างป้อมทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อป้องกันข้าศึกทางทะเล จึงโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาถ ดำเนินการสร้าง ป้อมปราการขึ้นใช้ชื่อว่า “ป้อมวิทยาคาร” การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จก็เสด็จสวรรคตเสียก่อนต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้าง ป้อมวิทยาคารจนแล้วเสร็จ เมื่อวันศุกร์ เดือน 7 แรม 10 ค่ำ พ.ศ. 2358 และพระราชทานนามเมืองใหม่ว่า เมืองนครเขื่อนขันธ์
ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 ความว่า เมื่อเดือน 5 ปีจอ ฉ ศ ก จุลศักราช 176 ทรงพระราชดำริว่า ที่ลัดต้นโพธิ์นั้นเมื่อใน รัชกาลที่ 1 สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้โปรดให้กรมพระราชวังบวรสุรสิงหนาท เสด็จลงไป กะการที่จะสร้างเมืองขึ้นไว้ป้องกันข้าศึกที่จะมาทางทะเลอีกแห่ง 1 การยังค้างอยู่เพียงได้ ลงมือทำป้อมยังไม่ทันแล้ว จะไว้ใจแก่การศึกสงครามทางทะเลมิได้ ควรจะต้องทำขึ้นให้ สำเร็จ จึงโปรดให้สมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เป็นแม่กองเสด็จ ลงไปทำเมืองขึ้นที่ปากลัด ตัดเอาท้องที่แขวงกรุงเทพมหานครบ้าง และแขวงเมือง สมุทรปราการบ้าง รวมกันตั้งขึ้นเป็นเมืองใหม่อีกเมือง 1 พระราชทานชื่อว่า “เมืองนคร เขื่อนขันธ์”……… เขตเมืองนครเขื่อนขันธ์ รวมพื้นที่อำเภอ พระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ และรวมถึงเขตพระโขนง และสวนหลวงด้วย ซึ่งหากมองดูแผนที่ทางอากาศจะเห็นว่า เขตเมืองนครเขื่อนขันธ์ครอบคลุมอาณาเขตสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยฝั่งทิศตะวันตกเฉียงใต้ คือ อำเภอพระประแดง และทิศตะวันออก คือ ฝั่งพระโขนงและสวนหลวง และมีคลองพระโขนงเชื่อมต่อจากปากแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าสู่พื้นที่ฝั่งตะวันออก ในพื้นที่เขตพระโขนงและสวนหลวง และคลองบ้านป่า ก็เป็นคลองซอยเชื่อมต่อกับคลองพระโขนงอีกทอดหนึ่งเมื่ออำเภอพระประแดง มีประวัติเก่าแก่ย้อนกลับไปถึงสมัยขอม พระโขนงก็เช่นกัน คำว่า “โขนง” ซึ่งหมายถึง คิ้ว เป็นภาษาเขมรเช่นกัน มี คำยืนยันจาก มุขปาฐะว่า ในพื้นที่ชุมชนบ้านป่า ซึ่งมีคลองบ้านป่าเชื่อมต่อกับคลองพระโขนง เป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำ น่าจะเคยมีชุมชนโบราณมาก่อน เพราะบริเวณคลองตื้น (ส่วนหนึ่งจากคลองบ้านป่า) มีเศษถ้วยชามกระเบื้องเป็นจำนวนมากหลงเหลือ เป็นร่องรอยอยู่ตามสวนต้นไม้ แสดงว่า บริเวณคลองตื้นนี้น่าจะมีชุมชนเก่าแก่ตั้งถิ่นฐานอยู่มานานแล้ว อาจจะมีอายุย้อนกลับไปถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย (ประมาณปี พ.ศ. 2305) ในช่วงตอนปลายของคลองบ้านป่าก่อนออกสู่คลองพระโขนงนั้น เรียกกันว่า คลองวัดช้าง คงเป็นวัดร้างเก่าแก่ที่มีแต่ครั้งเก่าก่อน แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าสร้างขึ้นแต่สมัยใดเพราะเหลือแต่ชื่อ ไม่ปรากฏหลักฐานทางวัตถุหรือโบราณสถานหลงเหลืออยู่ แต่ก็ส่อเค้าว่ามีความเกี่ยวเนื่องกับความเป็นมาของคลองบ้านป่า ซึ่งเป็นทางเดินของโขลงช้างในสมัยโบราณ
สำหรับนครเขื่อนขันธ์ ซึ่งมีข้อความระบุว่าเป็นแหล่งที่บรรดาทหารหรือขุนศึกชาวปัตตานีถูกกวาดต้อน มาตั้งหลักแหล่งอยู่ที่นี่ โดยมีข้อความดังนี้ “เมื่อสมัยพระนครศรีอยุธยาเป็นราชธานี ได้ยกทัพไปตียึดมลายู คือเมืองปัตตานีมาเป็นของไทย ท่านแม่ทัพของกรุงศรีอยุธยา ได้สั่งให้กองทัพของกรุงศรีอยุธยากวาดต้อนเชลยศึกของมลายู (ตานี) เข้ามาไว้ในพระนครศรีอยุธยา และบรรดาเชื้อพระวงศ์ของมลายู (ตานี) นั้น ได้ถูกนำไปไว้ที่คลองตะเคียน และบ้านลุมพลี ซึ่งอยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (ปัจจุบันนี้) ส่วนเชลยศึกมลายู (ตานี) ที่เป็นทหารได้ถูกนำมากักกันไว้ที่แขวงเมืองนครเขื่อนขันธ์ คือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการในปัจจุบัน เขตเมืองนครเขื่อนขันธ์ ในขณะนั้นรวมถึงพระโขนงและสวนหลวง กทม. ในปัจจุบันด้วย ท่านอับบ๊าส ท่านเป็นแม่ทัพของหัวเมืองมลายู (ตานี) ได้ถูกควบคุมตัวพร้อมด้วยครอบครัวและพลพรรคของท่านมากักกันไว้ที่แขวงเมือง นครเขื่อนขันธ์ บริเวณบ้านหัวป่า แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร (ในปัจจุบัน) และต่อมาท่านอับบ๊าสก็ได้รับพระราชทานที่ดินพร้อมด้วยวัสดุอุปกรณ์ในการก่อ สร้างมัสยิดจาก “สมเด็จพระยามหาศรีสุริยวงศ์” (สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์) โดยได้รับพระราชทานนามของมัสยิดครั้งแรกว่า “สุเหร่าใหญ่” ซึ่งต่อมามีการบูรณะปรับปรุงให้ดีขึ้น เป็นการก่อสร้างแบบก่ออิฐโบกปูน เมื่อการก่อสร้างสำเร็จแล้ว จึงได้ตั้งชื่อใหม่ว่า “มัสยิดอัลกุ๊บรอ” (สุเหร่าใหญ่-ปากคลองเคล็ด) บางท่านเรียกว่า มัสยิดอัลกุ๊บรอ แห่งอับบ๊าส สุเหร่าใหญ่ หรือ มัสยิดอัลกุ๊บรอ (สุเหร่าใหญ่-ปากคลองเคล็ด) เป็นมัสยิดแห่งแรกในเขตนี้ สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2332 (ต้นยุครัตนโกสินทร์ในสมัยรัชกาลที่ 1) โดยท่านอับบ๊าสเป็นผู้ดำเนินการสร้างมัสยิดหลังนี้ ซึ่งท่านอับบ๊าสเป็นบรรพบุรุษ “มุสลิม” คนแรกที่มาจากเมืองปัตตานี และมาตั้งถิ่นฐานในเขตนี้…”
ข้อความที่ระบุข้างต้นเกี่ยวกับประวัติการสร้างมัสยิดอัลกุ๊บรอกำเนิดชุมชน “หัวป่า” เขตสวนหลวง มีประเด็นทางประวัติศาสตร์ที่ค่อนข้างสับสน ในการสืบเรื่องย้อนกลับไปถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา และอ้างว่ามีการยกทัพไทยไปตีหัวเมืองมลายู และยึดปัตตานีเป็นของไทยพร้อมกวาดต้อนเชลยศึกชาวตานี และเชื้อพระวงศ์ของปัตตานีมาไว้ที่ คลองตะเคียน และบ้านลุมพลี ในเขตพระนครศรีอยุธยานั้น เป็นเรื่องที่ขาดความชัดเจนในบริบทของประวัติศาสตร์ช่วงนั้นเพราะ ถึงแม้รัฐปัตตานีจะเคยมีการรบพุ่งกับอยุธยาหลายครั้งหลายครา แต่ไม่ปรากฏว่ารัฐปัตตานีถูกตีแตก และพ่ายสงครามอย่างราบคาบเหมือนเช่นครั้งกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ทั้งนี้ เพราะรัฐปัตตานีมีความสัมพันธ์กับสยามในสมัยอยุธยาในฐานะประเทศราช ซึ่งมีธรรมเนียมต้องส่ง “บุหงามัส” หรือดอกไม้เงิน ดอกไม้ทองให้ทุกๆ ปี แต่อย่างไรก็ดี อำนาจรัฐของกรุงศรีอยุธยา ก็ไม่อาจแผ่ขยายไปยังหัวเมืองไกลโพ้นอย่างปัตตานี ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดครั้งใดที่กรุงศรีอยุธยาประสบ ปัญหาทางการเมือง หรือติดพันศึกสงคราม ประเทศราชที่มีความพร้อม ทั้งภูมิศาสตร์ และเศรษฐกิจอย่างปัตตานี ก็จะมองหาความเป็นอิสระในทันที ด้วยเหตุนี้ทำให้ปัตตานีกับสยามต้องมีเหตุให้ทำสงครามกันอยู่บ่อยครั้ง ดังนั้นกองทัพกรุง ศรีอยุธยาจึงไม่เคยปราบปรามปัตตานีได้อย่างเบ็ดเสร็จจนถึงขั้นตีปัตตานีแตก และกวาดต้อนเชลยศึกพร้อมด้วยเชื้อพระวงศ์ของปัตตานี นำมาไว้ในราชธานีเหมือน อย่างที่ข้อความในวารสารมุสลิม กทม. ระบุไว้ ส่วนการรบพุ่งและติดตามมาด้วยการกวาดต้อนเชลยศึกตามรายทางในการเดินทัพนั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ แต่ก็คงไม่ได้มีจำนวนมากมายเหมือนในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีการศึกขั้นแตกหัก และสลายกำลังทหาร และศูนย์กลางอำนาจจากกลุ่มเชื้อพระวงศ์ลงการกวาดต้อนเชื้อพระวงศ์ของปัตตานีในสมัยอยุธยา จึงเป็นเรื่องที่น่ากังขา และขาดหลักฐานยืนยัน เพราะรัฐปัตตานีขณะนั้นยังคงดำรงอยู่อย่างเป็นอิสระ เพียงแค่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศราช ที่ส่งบุหงามายังกรุงศรีอยุธยาเท่านั้น
สำหรับเมืองนครเขื่อนขันธ์ ที่ข้อความในวารสารฯ ระบุว่า เป็นพื้นที่ซึ่งเชลยศึกปัตตานีที่เป็นทหารถูกนำมากักกันเอาไว้นั้น ยังไม่ถูกสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา เพิ่งจะถูกสร้างขึ้นในต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แล้วเสร็จในรัชสมัยสมเด็จพระพุทธเลศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ปี พ.ศ. 2358 โดยพระราชทานนามเมืองใหม่นั้นว่า “เมืองนครเขื่อนขันธ์” ส่วนเมืองเก่าที่มีมาแต่เดิม และเป็นเมืองหน้าด่านทางทะเล คือ เมืองพระประแดง ซึ่งในชั้นอยุธยาจวบจนต้นรัตนโกสินทร์ ก่อนรัชกาลที่ 2 ยังไม่ได้มีพื้นที่รวมถึงเขตพระโขนง และเขตสวนหลวง ซึ่งอยู่คนละฟากกับอำเภอพระประแดง โดยมีแม่น้ำเจ้าพระยาคั่นกลาง แล้วรวมเขตทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าเป็นเขตของเมืองนครเขื่อนขันธ์ใน เวลาต่อมา (รัชกาลที่ 2) ดังนั้น ถ้าหากมีการกวาดต้อนเชลยศึกจากหัวเมืองมลายูในสมัยอยุธยามากักกันเอาไว้ใน พื้นที่แถบนี้จริง ก็น่าจะเป็นที่อำเภอพระประแดงเดิม ไม่ใช่ที่เมืองนครเขื่อนขันธ์ ซึ่งกินพื้นที่ครอบคลุมมาถึงบ้านหัวป่าในเขตสวนหลวงแต่อย่างใดเมืองพระประแดง ถูกตั้งเป็นเมืองหน้าด่านทางทิศใต้ของกรุงศรีอยุธยานับแต่รัชสมัยพระเจ้าอู่ทอง ต่อมาเมืองพระประแดงอยู่ห่างจากปากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามามาก พื้นดินตื้นเขิน ยื่นออกไปในทะเล สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (ระหว่างปี พ.ศ. 2163-2171) จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองสมุทรปราการเป็นเมืองหน้าด่านทางใต้แทนเมืองพระประแดงเดิม จวบจนลุสู่แผ่นดินใหม่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อกองทัพสยามยกทัพไปตีหัวเมืองมลายูซึ่งตั้งแข็งเมืองในรัชสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น สยามสามารถปราบปรามรัฐปัตตานี และหัวเมืองมลายูลงได้อย่างเบ็ดเสร็จ รัฐปัตตานีแตก ศูนย์กลางอำนาจในชนชั้นปกครองของรัฐปัตตานีถูกสลายลง ราชวงศ์ปัตตานี และเหล่าทหารตานี ตลอดจนพลเมืองถูกกวาดต้อนเข้ามายังส่วนกลางในฐานะเชลยศึกในระหว่างปี พ.ศ. 2329-2351 ตรงกับรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ในครั้งนั้นเมืองนครเขื่อนขันธ์ยังไม่ได้ถูกตั้งขึ้น คงมีแต่เมืองพระประแดง และเมืองสมุทรปราการในช่วงเวลานั้น โดยอยู่คนละฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยากับแขวงพระโขนงซึ่งเป็นเมืองเก่า บรรดาลูกหลานของสุลต่านปัตตานี (เชื้อพระวงศ์) ถูกนำตัวไปไว้หลังวัดอนงคาราม ฝั่งธนบุรี เรียกบริเวณนั้นว่า บ้านแขกมลายู (หรือบ้านแขกตานี) ปัจจุบันคือ สี่แยกบ้านแขก บ้านสมเด็จเจ้าพระยาส่วน เชลยศึกตานีที่เป็นทหารและชาวบ้านธรรมดาสามัญนั้น ส่วนหนึ่งน่าจะเอามากักกันไว้ในพื้นที่พระโขนงบริเวณบ้านหัวป่า (ปากคลองเคล็ด) ในเขตสวนหลวงปัจจุบัน ซึ่งถ้าหากนำเชลยศึกชาวตานีมากักกันไว้ ณ พื้นที่ย่านนี้จริง ก็คือ ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ก่อนรัชกาลที่ 2 ซึ่งนครเขื่อนขันธ์ถูกสร้างเสร็จ และกินพื้นที่ทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ใช่ในสมัยอยุธยาทั้งนี้เพราะข้อความในวารสารมุสลิม กทม. ได้อ้างถึงนครเขื่อนขันธ์ จึงดูลักลั่น ยิ่งเมื่ออ้างว่า ท่านอับบ๊าส แม่ทัพตานีเป็นบรรพบุรุษมุสลิมคนแรกที่มาจากปัตตานี และมาตั้งถิ่นฐานในเขตนี้ (เนื่องจากผลของสงครามในชั้นต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ไม่ใช่สมัยอยุธยา) และเกี่ยวข้องกับการพระราชทานที่ดิน เพื่อสร้างมัสยิดจากสมเด็จเจ้าพระยาบรม มหาศรีสุริยวงศ์ด้วยแล้วก็ย่อมชัดเจนว่า นั่นเป็นเหตุการณ์ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และล่วงเลยมาหลายรัชกาลทั้งนี้สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นบุตรสมเด็จเจ้าพระยามหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) กับท่านผู้หญิงจันทร์ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เป็นนายไชยขรรค์หุ้มแพรมหาดเล็ก เป็นหลวงสิทธินายเวร เป็นหมื่นไวยวรนาถ เป็นพระยาศรีสุริยวงศ์ จางวางมหาดเล็กในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ที่สมุหพระกลาโหม
การอพยพย้ายถิ่นในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ทำให้สามารถระบุได้ว่า ชาวมลายูในประเทศไทยมี 2 ช่วงเวลาคือ มลายูเก่าที่อพยพมาก่อนเป็นชาวมลายูเดิมที่หนีพม่าเข้ามาตั้งชุมชนอยู่ในเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า ทั้งนี้เพราะบรรพบุรุษที่นี่พูดภาษาไทย มีขนบธรรมเนียมประเพณี โดยเฉพาะการแต่งกายเหมือนกับคนไทยโบราณในภาคกลางทั่วไป คือ เป็นคนไทยเชื้อสายมลายูที่เป็นคนดั้งเดิม ซึ่งผิดแผกจากชาวปัตตานีใหม่ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่ม และเข้ามาทีหลังในการอพยพลี้ภัยสงครามเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาแตก (พ.ศ. 2310) นั้นมีหลักฐานระบุว่า ชาวมุสลิมในกรุงศรีอยุธยาซึ่งมีอยู่หลายกลุ่มนั้น ได้อพยพลงมาทางใต้ และตั้งหลักแหล่งอยู่ที่คลองบางกอกใหญ่ และที่ปากลัด (อำเภอพระประแดง) นอกจากมุสลิมมลายูแล้ว ที่ปากลัดยังมีมุสลิมที่มาจากอินเดีย กลุ่มนี้เป็นพ่อค้า คหบดี ตั้งบ้านเรือนอยู่เขตติดต่อระหว่างตลาดพระประแดงกับบ้านปากลัด บริเวณนี้เรียกว่า “กำปงบะห์รู หรือกำปงปาฆู” ซึ่งแปลว่า “หมู่บ้านใหม่” อยู่ปะปนกับพวกชาวมอญ มุสลิมกับมอญอยู่กันอย่างสมานฉันท์ ไปมาหาสู่กัน บ่อยครั้ง มุสลิมได้แต่งงานกับชาวมอญ และยังนับเนื่องเป็นญาติพี่น้องกันอยู่
เมื่อเวลาผ่านไป จากสังคมเกษตรเปลี่ยนเป็นสังคมอุตสาหกรรม วิถีชีวิตของคนในชุมชนก็เปลี่ยนไปด้วย ภาษามลายูทีเคยใช้ก็หายไป อาชีพที่เคยพึ่งพาธรรมชาติก็หมดไป เพราะทุกคนต้องแข่งขันกันทำงาน อยู่ในโรงงานอยู่ในสำนักงาน อยู่ในห้างร้านต่างๆ ปัจจุบันได้มีเครื่องมือสื่อสารในการรับรู้มากขึ้น การไปมาหาสู่ และการเยี่ยมญาติเหมือนในอดีตได้ลดน้อยลงไปด้วย
วัฒนธรรมอิสลาม
วัฒนธรรมอิสลาม หมายถึง วิถีในการดำเนินชีวิตหรือรูปแบบแห่งพฤติกรรมของมุสลิมตลอดจนสิ่งที่สร้างสรรค์ขึ้นมา ตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความศรัทธาว่า อัลลอฮฺ คือพระเจ้าเพียงองค์เดียวและมูฮำมัด(ศ็อลฯ)คือศาสนทูตของพระองค์วัฒนธรรมอิสลามประกอบไปด้วยองค์ประกอบ 4 ประการคือ
1. องค์มติ (concept)
2. องค์การ (organization)
3. องค์พิธีกรรม(usage)
4. องค์วัตถุ (instrumental and symbolic object)
ที่มาของวัฒนธรรมอิสลาม
วัฒนธรรมอิสลามมีที่มาจากที่สำคัญ 2 ประการคือ
1. คัมภีร์อัล-กุรอานซึ่งอัลลอฮฬ (ซุบฮาฯ) ได้ประทานให้แก่มนุษยชาติโดยผ่านทางท่านศาสดามูฮำมัด(ศ็อลฯ) ทำให้มุสลิมทั่วทุกภูมิภาคน้อมรับบทบัญญัติแห่งคัมภีร์เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต
2. ซุนนะหฺของท่านศาสดามูฮำมัด(ศ็อลฯ) หมายถึง วจนะหรือคำพูด (หะดีษ) การปฏิบัติหรือ จริยวัตร และคำชี้ขาดในปัญหาใดปัญหาหนึ่งของท่านศาสดามูฮำมัด(ศ็อลฯ) ตลอดจนคำกล่าวและการปฏิบัติของบรรดาสหายและผู้ใกล้ชิดซึ่งท่านศาสดามูฮำมัด(ศ็อลฯ)เห็นหรือไม่คัดค้านที่มาของซุนนะหฺ ที่ปรากฏพอสรุปได้ 3 ประการ ดังนี้
1. เพื่อต้องการสั่งสอนหรือให้แนวทางแก่สหายของท่านศาสดาฯ บางครั้งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับท่าน
2. เป็นการกล่าวถึงหลังจากเห็นหรือรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับสหายหรือผู้ใกล้ชิด
3. จริยวัตรที่ท่านศาดาฯปฏิบัติและผู้ที่อยู่ใกล้ชิด ตลอดจนสหายผู้ใกล้ชิดได้พบเห็น ซึ้งได้บอกกันต่อๆ มาพร้อมนำมาปฏิบัติ
ส่วนหะดีษ หมายถึงคำพูดหรือโอวาทของท่านศาสดามูฮำมัด(ศ็อลฯ) จึงทำให้ซุนนะหฺมีความหมายกว้างกว่าหะดีษ เพราะหะดีษเป็นส่วนหนึ่งของซุนนะหฺ์
ชาติพันธุ์มลายู ι ปัตตานีดารุสลาม ι จากปัตตานีสู่ปากลัด ι ตามรอยถิ่นบรรพชน
จากปัตตานีสู่ปากลัด 1 Ι 2 Ι 3 Ι 4 Ι 5 Ι 6