ชาติพันธุ์มลายู ι ปัตตานีดารุสลาม ι จากปัตตานีสู่ปากลัด ι ตามรอยถิ่นบรรพชน
จากปัตตานีสู่ปากลัด 1 Ι 2 Ι 3 Ι 4 Ι 5 Ι 6
ศูนย์วัฒนธรรมชุมชนมุสลิม-มลายู บ้านปากลัด มีภารกิจหลักๆ สองส่วน อันแรกคือทำเกี่ยวกับเรื่องประวัติศาสตร์ชุมชน อย่างที่ทราบแล้วว่าปากลัดเป็นชุมชนเก่าแก่ ประมาณ 228 ปี การเติบโตย่อมมีเป็นธรรมดา การโยกย้ายถิ่นฐานจากปากลัดไปยังที่ต่างเกิดขึ้นมาตั้งแต่อดีตมาแล้ว ภารกิจตรงนี้ทางศูนย์ฯก็ต้องทำ อันต่อมาเรื่องเครือญาติ เรื่องนี้ถือได้ว่าเป็นตัวจุดประเด็นให้ทำศูนย์ฯขึ้นมาก็ว่าได้ อันเนื่องมาจากบันทึกชิ้นประวัติศาสตร์ของบรรพชนที่ได้เขียนไว้ ส่วนนี้เราเรียก “ศูนย์ข้อมูลรูทส์” หรือ “เครือญาติสัมพันธ์
อัล-กุรอ่านซูเราะห์ อัลหุญร๊อต(49) อายะห์ที่ 13 กล่าวว่า “โอ้มนุษย์ชาติทั้งหลาย แท้จริงเราได้สร้างพวกเจ้าจากเพศชาย และเพศหญิง และเราได้ให้พวกเจ้าแยกเป็นเผ่า และตระกูลเพื่อจะได้รู้จักกัน แท้จริงผู้ที่มีเกียรติยิ่งในหมู่พวกเจ้า ณ.อัลลอฮ์นั้น คือผู้ที่มีความยำเกรงยิ่ง ในหมู่พวกเจ้า แท้จริงอัลลอฮ์นั้นเป็นผู้ทรงรอบรู้อย่างละเอียดถี่ถ้วน”
จากอัล-กุรอ่านดังกล่าวจะเห็นว่า อัลลอฮ์ทรงตรัสแก่มนุษยชาติ อันหมายถึงมนุษย์ทุกคน ไม่จำกัดว่าจะมีความเชื่อใด พระองค์ทรงสร้างมนุษย์มาจากชายหญิง นั้นก็คือ อาดัมและฮาวา และพระองค์ทรงบอกให้เรารู้ว่า พระองค์ได้แยกเผ่าต่างๆ นั้นแสดงว่า การเป็นเผ่าไม่ได้เป็นการอุตริ(บิดอะห์) แต่ประการใด หรือแม้แต่เรื่องของตระกูลต่างๆก็เช่นกัน นั้นแสดงว่าเผ่าตระกูล คือสิ่งที่อัลลอฮ์ทรงกำหนดให้มีสำหรับมนุษย์ เป็นการชัดเจนว่าเรื่องชาติพันธุ์และตระกูล ไม่ได้เป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับมนุษย์ เพียงแต่การทำเรื่องชาติตระกูล ต้องทำเพื่อให้เกิดการรู้จักกัน และไม่ใช่เป็นการโอ้อวดว่าเผ่าพันธุ์หรือตระกูลตัวเอง ดีกว่าเผ่าพันธุ์หรือตระกูลอื่น หากการทำเรื่องนี้เพื่อการโอ้อวด(ตะกั๊บบุร) ตรงนี้แหละที่ผิด ในมุมมองของศาสนาประเด็นนี้น่าจะยุติ ส่วนการสานสัมพันธ์เครือญาติมีผลดีอย่างไรผมคิดว่าทุกท่านทราบดี
ผมต่อจากตอนที่แล้วเลยนะครับ ย้อนนิดเดียว ตอนที่แล้วผมกล่าวถึงบันทึกสายเครือญาติที่แชบะห์ปากลัดทำไว้ คือสาย อิม่ามดามุฮิ คอเตบดามาลี บิล้าลยะห์ยา และสาย ดอยี(มุฮัมมัด) ดอเมาะห์(ฟาติมะห์) โต๊ะวาพะนา มาตอนนี้ผมขอนำอีกสองสายมากล่าวถึง จากนั้นก็จะเข้าสู่บุคคลสำคัญของบ้านปากลัดต่อไป
ฮัจยีกอเซ็ม อิสลามหรือกีเซ็ม ท่านอยู่สะพานยาว ใกล้ๆกับมัสยิดกุฎีช่อฟ้า จ.พระนครศรีอยุธยา ผมเคยเล่าถึงสาเหตุที่ทำให้ท่านสืบเรื่องเครือญาติในบันทึกก่อนๆแล้ว สาเหตุที่เราจะรู้จักกีเซ็มไม่ใช่เราเดินเข้าไปหากีเซ็ม แต่ท่านเดินมาหาพวกเรา เมื่อใดที่ท่านสืบญาติพบ ท่านจะนำลูกๆมารู้จัก มานอนค้างด้วย นำข้าวปลาอาหารมากินร่วมกัน โดยไม่รบกวนญาติพี่น้อง กีเซ็มกลับไปสู่อัลลอฮ์ไม่กี่ปีมานี้เอง อายุท่าน 90 กว่าปี ผมจำตัวเลขที่แน่นอนไม่ได้ ท่านเป็นคนที่มีความจำดีมาก และสายตาดีเยี่ยม ขนาดช่วงท้ายๆของชีวิต ท่านนอนด้วยความอ่อนแรง หูก็ไม่ได้ยิน แต่สามารถสื่อด้วยการเขียนได้ ท่านทำไว้หลายสาย แต่ที่ผมขอยกมาเป็นตัวอย่างหนึ่งสายคือ โต๊ะวังยะมีละห์ โต๊ะวังมัรยำ สองพี่น้องจากปัตตานีเช่นกัน กีเซ็มใช้เวลามากกว่า 50 ปีในการทำงานสืบค้นเรื่องนี้
โต๊ะวังยะมีละห์ ผู้เป็นพี่ได้แยกมาอยู่ที่อยุธยา ส่วนโต๊ะวังมัรยำผู้น้องมาอยู่ปากลัด บิดามารดาของทั้งสองท่านเราสืบไปไม่ถึง เลยไม่ทราบว่าเป็นใคร ….โต๊ะวังยะมีละห์ สามีท่านชื่อมูซอ และมูซอท่านนี้เป็นลูกของอับดุลลอฮ์ ฟาตอนี ใครที่เรียนกีตาบคงคุ้นๆชื่อนะครับ ว่า อับดุลลอฮ์ ฟาตอนี คืออุลามาอฺ 1 ใน 7 ท่านของฟาตอนีดารุลมาอะรีฟ จะว่าก็ว่า สงครามสยาม-ฟาตอนี มีทั้งส่วนดีและส่วนเสีย ….ส่วนเสียก็คือทำให้อุลามาอฺแตกกระจาย ข้อดีผมว่าไปแล้ว …โต๊ะวังยะมีละห์มีลูก โต๊ะกีอีซา โต๊ะอากีเกาะฮ์ โต๊ะกีอิสหาก โต๊ะกีสะมะ โต๊ะเด๊ะ และโต๊ะเยาะฮ์ ลูกหลานสายนี้เรียกว่าอยู่หลายพื้นที่ในอยุธยา รวมทั้งกรุงเทพฯ บางตลาด ปากเกร็ด จ.นนทบุรี จ.ระยอง และ จ.ตราด เป็นต้น แต่ละท่านก็ได้รับสายธารทางวิชาการเช่นบรรพบุรุษ บางท่านก็ไปเสียชีวิตที่มักกะฮ์
โต๊ะวังมัรยำ สามีท่านชื่อ มัดซอและฮ์ เราไม่ทราบว่าเป็นผู้ใด ทางสายนี้เรียกว่าอยู่เต็มปากลัดก็ว่าได้ ในสายนี้ยังเข้าไปเกี่ยวดองกับสายคอเตบดะมาลี ที่แชบะห์ทำไว้ด้วย ลูกของท่านคือ โต๊ะดุซง ตอเล็บ โต๊ะเวาะนิง โต๊ะแมะเซาะห์ และโต๊ะคอดีเยาะห์
ผมขอยกตัวอย่างของสายที่เข้ามาเกี่ยวดองของโต๊ะวังมัรยำ ที่กีเซ็มบันทึก กับคอเตบดะมาลี ที่แชบะห์บันทึก ดังนี้ “คอเตบดะมาลี-ฮาโล๊ะห์-มะเก็บ-บาราเฮม” …. “โต๊ะวังมัรยำ-ตอเล็บ-แมะพร” …บารอเฮมได้มาแต่งงานกับแมะพร เป็นต้น
อีกสายหนึ่งที่อยากจะนำเสนอในบันทึกนี้คือสาย “ต่วนมุฮัมมัดซอและห์” ท่านเป็นผู้พิพากษา(กอฎี)ที่ที่รัฐเคดาห์(กะเดาะห์) ประเทศมาเลเซีย ผู้บันทึกสายนี้คือแชหวัง หรือมะห์มูด มัสแหละ ต้นตำหรับ “ส้มโอทับทิมสยาม”นั้นเอง ท่านผู้นี้เป็นคนที่สนใจเรื่องเครือญาติ ความจำท่านดีมาก สามารถเล่าเรื่องสิบครั้งโดยไม่ตกหล่นแม้แต่น้อย ลูกหลานให้ฉายาท่านว่า “เทปคราสเซ็ต” ยุคนั้นถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่สุดยอดแล้ว
ต่วนมูฮัมมัดซอและห์ ภรรยาของท่านเป็นลูกของอีหม่ามมะฮ์มูด คนปัตตานี ไม่ทราบว่าชื่ออะไร ลูกส่วนใหญ่จะอยู่ที่ประเทศมาเลเซีย มีคนเดียวที่มาอยู่ในประเทศไทย แต่งงานกับผู้หญิงบ้านป่า คือ ฮ.มูฮำมัดนูร ลูกหลานสายนี้จะเข้าไปเกี่ยวกับสายดอยี(มุฮัมมัด)และสายโต๊ะวังมัรยำ ท่านมีลูกสี่คนคือ ฮ.มุฮัมมัดรอยับ(มีลูกที่ทราบสองคนคือ อาบีสและมันโซร ทราบว่าอยู่ปีนัง) อับบาส มุฮัมมัดนูร แมะจิ๊…. อ.อาลี เสือสมิง เคยขึ้นไปชมบนศูนย์ฯแล้วท่านเองก็ตั้งใจที่จะทำแบบนี้ที่บ้านป่าเช่นกัน ยิ่งมาได้ลายแทงตรงนี้ว่า ฮ.มุฮัมมัดนูร มาแต่งงานกับหญิงบ้านป่าด้วยแล้ว ท่านสนใจมาก กุโบร์ที่อยู่ที่คลองสามวา
อ.อารีฟีน แสงวิมาน โทรสอบถามเรื่องนี้กับผมสักสองสามวัน เพราะท่านก็สนใจในสายนี้ด้วย แม้ว่าตัว อ.อารีฟีน จะเกี่ยวทางแสงวิมาน แต่รุ่นปู่ย่าตายายทั้งสองสายนี้เข้ามาเกี่ยวดองกัน ตรงนี้เกี่ยวพันกันถึงสามสาย ผมขอยกเป็นตัวอย่าง …ดอยี(มุฮัมมัด)-แสง(อับดุลลอฮ์)-ฮ.กะจิ-ฮ.อารีฟีน-ฮ.อัสอารี-อิบรอฮีม- อ.อารีฟีน นี่สายหนึ่ง/…ต่วนมูฮัมมัดซอและฮ์-มุฮัมมัดนูร-มุฮัมมัด-มะฮ์ยอ-ฮ.อัสอารี-อิบรอฮีม-อ.อารีฟีน นี่ก็อีกสายหนึ่ง/ โต๊ะวังมัรยำ-มาทางโต๊ะดุซง—–กานิตาซอ(วานาค)-มะฮ์ยอ-ฮ.อัสอารี-อิรอฮีม-อ.อารีฟีน….จุดเชื่อมที่ทำเอาคนทำเรื่องนี้มึนไปหลายตลบก็คือการเกี่ยวพันที่สลับซับซ้อน แค่ตัวอย่างเดียว จุดเชื่อมคือ มุฮัมมัดในสายต่วนมุฮัมมัดซอและฮ์ แต่งงานกับกานิตาซอในสายโต๊ะวังมัรยำได้ลูกคือมะห์ยอ….อีกเชื่อมหนึ่งคือมะห์ยอในสองสายที่กล่าวมานี้ มาแต่งกับ ฮ.อารีฟีน ในสายดอยี(มุฮัมมัด)
ขอยกอีกตัวอย่างให้มึนเล่นๆสักเล็กน้อยคือ มะฮ์ยอพี่สาวพ่อผม ส่วน ฮ.อารีฟีน พี่ชายแม่ผม แล้ว อ.อารีฟีน เป็นอะไรกับผม กลายเป็นถามก่อนจบนะครับ….เรื่องราวยังไม่จบเพียงแค่นี้ ไว้ตอนต่อไป…
เรื่องราวตอนต่อจากนี้เป็นเรื่องประวัติผู้รู้คนสำคัญ และการขยายสู้พื้นที่ใกล้เคียงและห่างไกล ประวัติชุมชนและมัสยิด ขอนำไปลงในหัวข้อดังกล่าว(Admin)
ชาติพันธุ์มลายู ι ปัตตานีดารุสลาม ι จากปัตตานีสู่ปากลัด ι ตามรอยถิ่นบรรพชน
จากปัตตานีสู่ปากลัด 1 Ι 2 Ι 3 Ι 4 Ι 5 Ι 6