อับดุลเลาะฮ์(นายกองแสง)มีลูกสองคน คนหนึ่งชื่อฮัจยีกะจิ๊ บิดาของท่านได้ส่งไปศึกษาที่รัฐปีนัง ประเทศมาเลเชียในปัจจุบัน ในขณะศึกษาท่านมีเพื่อนรักหนึ่งท่านมีนามว่า “มุฮัมมัด”(ต่อมาคือเพื่อนรักของ ฮ.กะจิ๊ บุตรสองคนของสองท่านนี้ต่อมาได้แต่งงานกัน-คือ ฮ.อารีฟีนบุตรของ ฮ.กะจิ๊ แต่งกับ มะฮ์ยอบุตร ฮ.มุฮัมมัด และแชหวังบุตร ฮ.มุฮัมมัดแต่งกับโต๊ะแมะบุตรของ ฮ.กะจิ๊)
ปีนังในยุคนั้นถือว่ารุ่งเรืองทางด้านการค้าขายมาก ฮัจยีกะจิ๊เมื่อสำเร็จการศึกษากลับมาจึงได้นำความรู้จากที่นั้นมาใช้ในการประกอบอาชีพ บรรพบุรุษท่านเป็นนักการปกครอง และค้าขาย จึงส่งผลให้ท่านมีความเชียวชาญในทางสายเลือดเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อกลับมาอยู่ปากลัดอีกครั้งท่านจึงได้บุกเบิกธุรกิจ ซึ่งในขณะนั้นถือว่ามั่งคั่งเป็นอย่างยิ่ง คือโรงสีครกกระเดื่อง(เทียบได้กับโรงสีในปัจจุบัน ซึ่งตั้งอยู่คนละฝั่งถนนเยื้องๆกับวัดกลาง อ.พระประแดง ในปัจจุบัน) ท่านมีลูกจ้างแรงงานจำนวนมาก ต่อมาท่านคิดที่จะย้ายไปหาแหล่งผลิตข้าว เพราะในสมัยในอดีตมีคำกล่าวว่า “สิบพ่อค้าไม่เท่าทำนาผืนเดียว” ใครสามารถผลิตข้าวได้มาก เขาคือผู้มั่งคั่ง ด้วยกับความรู้เดิมๆที่มีอยู่ ท่านจึงได้เดินทางไปแสวงหาแหล่งทำมาหากินใหม่โดยมุ่งหน้าไปยัง คลองมะสง อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี ซึ่งมีระบบคลองส่งน้ำสะดวกในการทำนา(ปัจจุบันนี้หมู่บ้านนี้ยังมีลูกหลานอาศัยอยู่) ท่านอยู่ที่นี่ได้ระยะหนึ่ง เกิดปัญหาในการทำนากล่าวคือเมื่อถึงฤดูฝนเกิดน้ำหลาก การทำนามักไม่ค่อยได้ผล ท่านจึงส่งลูกชายคนโต ชื่ออับดุลเลาะฮ์ เดินทางไปยังภาคใต้ มุ่งสู่ จ.นครศรีธรรมราช ณ.ที่นั้นมีเพื่อนรักท่านคนหนึ่งสมัยที่เรียนที่ปีนัง คือ ฮ.มุฮัมมัด(แชมัด-หรือแชปากพญา) จากสายต่วนมูฮัมมัดซอและห์โยกย้าย มาจาก คลองสามวา มีนบุรีก่อนหน้านี้ มาตั้งหลักแหล่งอยู่ที่ บ้านท่าซัก อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช

ด้วยอยู่ฝังตรงกับสันเนินทางทิศตะวันตกที่เป็นแหล่งน้ำจืด (บ้านเนินและบางตะพาน)ซึ่งมีชุมชนคนไทยพุทธอยู่ก่อนแล้ว ส่วนฝั่งตะวันออกของคลองบางจาก ซึ่งที่สันดอนปากแม่น้ำยังเป็นที่รกร้างว่างเปล่า จึงได้ตัดสินใจปักหลักตั้งเพิงพักอาศัยอยู่ในบริเวณนั้น และ ได้ทำการทดสอบความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรในพื้นที่ดังกล่าวอยู่ 3 ปี โดยการหักร้างถางป่าทำนาและปลูกไม้ยืนต้นเท่าที่หาได้ในขณะนั้น มี มะพร้าว ละมุด พุทรา ด้านกุ้งหอยปู ปลา ก็ชุกชุม เนื่องจากเป็นที่สันดอนปากแม่น้ำ มีอาหารอุดมสมบูรณ์ จึงตัดสินใจแจ้งข่าวไปยังบิดาที่รออยู่ ณ. ที่บ้านคลองมะสง อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี ฮัจยีกะจิ๊ พร้อมด้วยลูกหลานจำนวนหนึ่ง อันประกอบไปด้วยลูกหลานจากคลองมะสงและปากลัด อ.พระประแดง ได้ตัดสินใจโยกย้ายอพยพอีกครั้งซึ่งถือว่าเป็นครั้งสำคัญและครั้งสุดท้ายในชีวิตท่าน มาลงเรือชื่อ “วัลยา” จากท่าน้ำราชวงศ์ ออกสู่ทะเล มุ่งสู่ จ.นครศรีธรรมราช
กำเนิดบ้านแสงวิมาน

หน้าที่สำคัญของผู้นำต่อสถานการณ์นั้นคือการแบ่งที่ดินให้แก่ครอบครัวที่ติดตามมา และการให้ความปลอดภัย ความสุขกายสบายใจแก่พี่น้องทุกคน พร้อมทั้งรวบรวมความสามัคคี พลิกป่าให้เป็นนา โดยลำดับแรกต้องช่วยกันสร้างกระท่อม เพิงพัก ให้ครบทุกครอบครัวก่อนในแปลงที่ดินที่ได้แบ่งให้นั้น สภาพพื้นที่ของบ้านแสงวิมานโดยทั่วไปเป็นที่ดินงอกใหม่ ปกคลุมด้วยป่าชายเลน มีน้ำจืด-น้ำเค็ม สลับฤดูกาลกัน น้ำท่วมถึง ตามสภาพภูมิอากาศทางภาคใต้ คือฤดูฝน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-ธันวาคม ฝนจะตกชุกและมีน้ำจืดท่วมสูงสุดในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม รอบ 2 เดือน ส่วนฤดูร้อนเริ่มเดือนมกราคมถึงมิถุนายน และช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม จะมีน้ำทะเลหนุนสูง ทำให้น้ำเค็มท่วมถึง
ขั้นต่อมาก็ลงมือพลิกป่าให้เป็นนา การทำนาช่วงแรกๆก็มีปัญหาในเรื่องการปักดำที่ไม่ตรงกับฤดูกาล ทำให้ข้าวสุกในช่วงที่ฝนตกหนัก คือเดือนธันวาคม ทำให้ข้าวเสียหายมาก จึงมีการศึกษาทดลองกันใหม่ จนถึงอีก 3-5 ปี จากนั้นจึงได้ลงมือร่วมกันก่อสร้างมัสยิด สร้างโรงเรียนขึ้น เพื่อทำการสอนทั้งศาสนาและสามัญ ในขณะที่ทางราชการก็ได้เข้ามาร่วมสนับสนุนให้สร้างโรงเรียนประถมศึกษาขึ้นเช่นกัน คือ โรงเรียนบ้านแสงวิมาน ก็สำเร็จขึ้นด้วยความร่วมมือของพวกเขา
บ้านแสงวิมานที่สามารถประคองตัวอยู่ได้ท่ามกลางสังคมใหม่คือความสามัคคี ให้เกียรติกัน และมีผู้นำที่เข็มแข็งยุคแรก ฮ.กะจิ๊ทำหน้าที่ผู้นำชุมชนและอิม่าม ต่อมาบุตรชายท่านคือ ฮ.อารีฟีน แสงวิมาน เมื่อ ฮ.อัสอารี แสงวิมานจบการศึกษาจากบ้านปากลัด สัปบุรุษจึงให้ท่านทำหน้าที่ต่อจากบิดาท่าน(ฮ.อารีฟีน) ปัจจุบัน คุณครูสุอิบ แสงวิมาน(บุตรชาย ฮ.อารีฟีน น้องชาย ฮ.อัสอารี) ซึ่งสอนอยู่บ้านปากลัดนานมากได้กลับมายังบ้านแสงวิมาน (เพื่อสานต่อเจตนาของบิดาคือ ฮ.อารีฟีน ที่ส่งไปร่ำเรียนกับแชบะห์ปากลัด) ก็ได้ดำรงตำแหน่งต่อจากพี่ชาย คือ ฮ.อัสอารี(แชของ อ.อารีฟีน)ส่วนผู้ที่มีบทบาทในการนำสังคมคือแชหวัง(ผู้บันทึกสายต่วนมูฮัมมัดซอและห์)แชริด(ฮ.อิดริส ซอแก้ว-ท่านนี้ก็มีบทบาทในการรวบรวมเครือญาติให้กับพวกเรา)และอีกหลายๆท่าน การบริหารที่สำคัญคือสังคมมีอิม่ามเป็นผู้นำสูงสุด ผู้ใหญ่บ้านเวลาจะทำอะไรหรือมีเรื่องจากทางราชการจะต้องปรึกษาหารือกับอิม่ามและผู้นำท่านอื่นๆทุกครั้งไป
พ.ศ.2482 พื้นที่ทำกินและอยู่อาศัยรวมเนื้อที่ 400 ไร่ ยังเป็นที่นาเกือบทั้งหมด และจากนโยบายผลิตข้าวเพื่อขายของรัฐ ทำให้พวกเขามุ่งมั่น จนสามารถทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง เป็นแห่งแรกของอำเภอปากพนัง ในเวลาเดียวกันก็ได้พัฒนาที่ดิน โดยยกร่องขึ้นเป็นสวนแบบภาคกลาง โดยการปลูกผักสวนครัวประเภทผักกาด ผักบุ้ง คะน้า และนำพันธุ์ไม้สวน ประเภทมะพร้าว กล้วย อ้อย ส้ม ละมุด จากกรุงเทพฯ สมุทรปราการ มาทดลองปลูกในร่อง และพืชผักสวนครัว อีก 4-5 ปี ต่อมาไม้สวนจึงได้ผลออกจำหน่ายสู่ท้องตลาดได้เป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ.2486
พ.ศ.2490 ทุกครัวเรือนได้สร้างบ้านถาวรหมด และส้มโอจะเป็นผลไม้ที่ราคาดี ให้ผลดกมากที่สุด จึงได้มีการเพิ่มกำลังการผลิต การทำสวนส้มโอมากขึ้นเรื่อยๆ ส้มโอที่นี่จึงเป็นที่รู้จักของคนในตลาดปากพนัง ตลาดบางจาก และตลาดในนครศรีธรรมราช ในนาม “ส้มโอแสงวิมาน” ตั้งแต่นั้นมา นับจากปี 2481 จนถึงปี 2505 ซึ่งถือได้ว่าเป็นยุคแห่งความสำเร็จ
และในปีนี้เองความสำเร็จต้องพังทลายลงในช่วงไม่ทันข้ามคืน ด้วยมหาวาตภัย 25 ตุลาคม 2505 ที่แหลมตะลุมพุก ความสิ้นเนื้อประดาตัวมีทั่วทุกตัวคน หลายครอบครัวได้โยกย้ายกลับปากลัด พี่น้องชาวปากลัดนำโดยโต๊ะกีดำ พี่น้องจากคลองมะสงนำโดย ฮ.มุด ระดิ่งหิน ได้รวบรวมข้าวของทรัพย์สินเงินทอง แล้วนำไปช่วยพี่น้องที่บ้านแสงวิมาน รวมทั้งคณะของอดีตจุฬาราชมนตรี ต่วน สุวรรณศาสน์ พอที่จะสร้างขวัญกำลังใจให้กับพี่น้องที่นี่ บ้านเรือนเสียหายเกือบหมด โชคดีที่ไม่มีใครเสียชีวิต
บ้านแสงวิมานใช้เวลาในการปรับปรุงหมู่บ้านเป็นเวลาหลายปี กว่าจะประสบผลสำเร็จ ซึ่งผลงานของหมู่บ้านเป็นที่ยอมรับของทางราชการหลายหน่วยงานได้ใช้เป็นสถานที่ศึกษาดูงาน อาทิ พัฒนาชุมชน กลุ่มเกษตรกร ศูนย์ศึกษานอกโรงเรียน โรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย กลุ่มองค์กรเอกชน ฯลฯ บุคคลภายนอกได้ขนานนามต่าง ๆ ให้ เช่น หมู่บ้านตัวอย่าง หมู่บ้านคนดี หมู่บ้านช่วยตัวเอง หมู่บ้านพัฒนา เป็นต้น เคยได้รับเกียรติบัตรเป็นหมู่บ้านพัฒนาระดับจังหวัด ระดับภาค ได้รับการจัดตั้งจากทางราชการ ให้เป็นหมู่บ้านแผ่นดินธรรมแผ่นทอง เมื่อ พ.ศ. 2532 รางวัลส่วนบุคคลก็มีมาก ทั้งระดับจังหวัดจนถึงระดับประเทศ
ผลงานชิ้นใหญ่ ๆ ที่แสงวิมานได้ให้ไว้กับท้องถิ่นมากมาย เช่น การใช้ภาษากลาง (ภาคใต้เรียกว่า ภาษาข้าหลวง) เดิมคนใต้จะพูดได้น้อยมาก แสงวิมานมาช่วยให้ขยายภาษากลางให้กว้างขวางขึ้น ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่สมัยก่อนมักจะส่งไปจากภาคกลาง ทำให้ชาวแสงวิมานติดต่อราชการได้รับความสะดวกเป็นพิเศษเสมอ
การทำการเกษตรแบบผสมผสาน ทำสวนยกร่องแบบภาคกลางซึ่งชาวแสงวิมานได้ทำมา ตั้งแต่เริ่มแรกที่ได้ก่อตั้งหมู่บ้านแล้ว ทางราชการเพิ่งมีการฟื้นฟูที่เรียกว่าปรับโครงสร้างการเกษตร ปัจจุบันการปลูกพื้นหลายชนิด การใช้ที่ดินให้เป็นประโยชน์ทุกตารางเมตร หมู่บ้านแสงวิมานจึงเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจของงานส่งเสริมการเกษตรของทางราชการ การเกี่ยวข้าวด้วยเคียวแทนการเก็บข้าวด้วยแกระ ซึ่งทางภาคใต้ปฏิบัติกัน ทางราชการได้จ้างชาวแสงวิมานไปเป็นครูสอนวิธีเกี่ยวข้าวด้วยเคียว จนเกิดเป็นแบบอย่างกว้างขวางต่อมา
การรวมกลุ่มทำงานหมู่บ้านได้ทำมาแต่เดิม การลงแขก แรงงาน งานเปิดป่า งานขุดสวน ปลูกข้าว ฯลฯ ชาวแสงวิมานได้รักษาการทำงาน เป็นกลุ่มตลอดมา ซึ่งพัฒนามาเป็นกลุ่มอาชีพ กลุ่มสวน กลุ่มนา กลุ่มประมง เลี้ยงสัตว์ ปรับปรุงมาสู่การรวมกลุ่มการซื้อ การขายผลผลิต กลุ่มออมทรัพย์ ฯลฯ เป็นที่สนใจของานพัฒนาชุมชนของทางราชการ ตัวอย่างของหมู่บ้านคนดีมีศีลธรรมเป็นที่กล่าวถึงเสมอของทางราชการ ชาวแสงวิมานจะช่วยรักษาให้เกิดความสงบสุขร่วมกันพยายามป้องกันสิ่งอบายมุขทั้งหลาย ไม่ให้มีโจรผู้ร้ายเกิดขึ้น กรณีพิพาทขัดแย้ง ใด ๆ จะพยายามหาทางยุติในหมู่บ้านเอง ทางราชการให้เกียรติที่จะไม่ลงมาก้าวก่าย ตำรวจจะไม่มาเกี่ยวข้อง โรงศาลไม่มีความจำเป็น 70 ปี ของหมู่บ้านมีคดีถึงโรงศาลเพียง 3-4 คดีเท่านั้น
ปัจจุบันแม่ว่าโลกเปลี่ยนแปลงไปมากมาย สังคมได้รับผลกระทบในทางลบ ปัญหาเยาวชน วัยรุ่น ยาเสพติดและอื่น ๆ อีกมากมาย แต่ชาวแสงวิมานก็ยังคงสามารถรักษาความสงบสุขของหมู่บ้านไว้ได้แม้จะด้วยความยากลำบาก
อีกอย่างหนึ่งที่แสงวิมานนำมากจากบ้านปากลัดคือยุวมุสลิม ถือได้ว่าเป็นต้นแบบของกลุ่มยุวมุสลิมใน จ.นครศรีธรรมราช ในยุคนั้น กลุ่มยุวมุสลิมอันเป็นต้นแบบมาจากปากลัด ได้รับความนิยมทั่งจังหวัด จนเยาวชนแสงวิมานได้รับเลือกสมัยนั้นได้รับการคัดเลือกให้เป็นประธานยุวมุสลิมกลาง คือ ครูอิสมาแอล แสงวิมาน(พี่ของบิดา อ.อารีฟีน แสงวิมาน)
ปัจจุบันชาวปากลัดกับชาวบ้านแสงวิมาน ยังให้การช่วยเหลือเกื้อกูลกันโดยตลอดไปมาหาสู่ มิได้ขาด ไม่ว่างานแต่ง คนเสียชีวิต แม้แต่การเยี่ยมเยี่ยนกันตามปกติ แม้แต่มัสยิดหลังปัจจุบันก็สำเร็จได้ด้วยการช่วยเหลือของพี่น้องชาวปากลัด ที่ตั้งกลุ่มลงขันกันเป็นรายเดือนทุกเดือน ผู้ออกแบบ และผู้ควบคุมการก่อสร้างก็เป็นลูกหลานชาวปากลัด คือ อ.อภินันท์ บูรณะพงษ์หรือพี่แป๊ะ ที่คนในวงการมุสลิมต่างก็รู้จักกันดี
วันจัดงานวางรากฐานมัสยิดก็ได้รับเกียรติจาก ท่านเด่น โต๊ะมีนา ขณะนั้นท่านดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และอดีตจุฬาราชมนตรี ประเสร็ฐ มะหะมัด จึงถึงการจัดงานฉลองมัสยิดพี่น้องชาวบ้านปากลัด เรียกว่าเหมือนจะปิดหมู่บ้านไปช่วยกัน แม้กระทั้งกลุ่มยุวมุสลิมบ้านปากลัด ต่างก็นำยุวฯเป็นจำนวนมากไปช่วยในเรื่องสถานที่ การติดไฟประดับจนกระทั้งการเก็บกวาดสถานที่ ขณะนั้นคุณอนันต์ ทรงศิริ(แอดมินคนหนึ่งในกลุ่มดาราศาสตร์) เป็นประธานฯ
ความผูกพันที่ชาวปากลัดมีต่อชาวบ้านแสงวิมานมีมาอย่างยาวนาน แม้แต่งานวันที่ 13 ธันวาคม นี้ทางคณะกรรมการศูนย์ฯได้เดินทางไปเรียนเชิญคุณครูสุอิบ แสงวิมา ผู้ซึ่งเป็นศิษย์แชบะห์ที่มีความรู้มากที่สุดที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน เคยเป็นครูที่บ้านปากลัด เป็นที่รักใคร่ของคนปากลัด ได้มาเป็นตัวแทนมอบของที่ระลึกให้กับองคมนตรี(ภาพบรรยากาศไปพบครูสุอิบท่านคงได้ชมไปแล้ว)
และในการเดินทางในครั้งนั้นเราได้ไปพบกับบาบอสุไลมาน ทรงเลิศ แห่งสถาบันดารุล อูลุม ปอเนาะหัวแปลง ที่ท่านได้กีตาบของแชบะห์เป็นจำนวนมากมาเพื่อใช้ประโยชน์ในการสอนของปอเนาะต่อไป เพราะภรรยาของบาบอสุไลมาน คือมามารุก็อยยะห์คือลูกหลานแชบะห์(บาบอสุไลมานก็จะมาร่วมงานนี้ด้วย)