จากปัตตานีสู่ปากลัด 5

จากปัตตานีสู่ปากลัด 5
ผมนำเสนอเรื่องของศูนย์ฯโดยสังเขปนั้น วันที่ 13 ธันวาคม คงได้เห็นตัวจริงกัน …..เรื่องราวของปากลัดในเชิงรายละเอียดนั้นผมคิดว่า เราหาอ่านยากมาก เพราะค้นหาจากประวัติศาสตร์แล้ว ก็ไม่ค่อยได้รายละเอียดมากนัก ส่วนหนึ่งขาดการบันทึกที่จริงจังของคนในชุมชน จึงเป็นเรื่องยากที่คนรุ่นเราจะพยายามค้นหา เรียบเรียง ต้องบอกเลยว่าเป็นความลำบากจริงๆ ยิ่งคนรุ่นผู้ใหญ่ล้มหายตายจากไปยิ่งยากไปกันใหญ่ หากคนรุ่นพวกเราไม่คิดทำอะไรเลยในตอนนี้ ฉะนั้นการฉีกประวัติศาสตร์ก็เท่ากับลบมุสลิมปากลัดออกจากประวัติศาสตร์ชาติไทย นั้นเองชุมชนหรือเรียกชื่อหนึ่งว่าบ้านปากลัด เป็นชุมชนมุสลิมเก่าแก่ที่สุดในจังหวัดสมุทรปราการ พี่น้องมุสลิมที่นี้แบ่งออกเป็น 2 รุ่น คือ มุสลิมรุ่นแรกอยู่มาตั้งแต่เดิม ก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นมุสลิมที่มีเชื้อสายมาจากมะละกา จากประเทศอินเดียซึ่งเดินทางมาค้าขายและปักหลักมาช้านาน บริเวณฝั่งตลาดพระประแดง ซึ่งปัจจุบันลูกหลานคนกลุ่มนี้ไปนับถือศาสนาพุทธ เป็นส่วนมาก สกุลไวทยานนท์เป็นต้น
ส่วนมุสลิมรุ่นที่สองนั้นมาอยู่ในราว ๒๐๐ กว่าปี ช่วงตอนต้นรัชกาล ที่ ๑ ของกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. ๒๓๒๙ ซึ่งเป็นเชลยศึก ที่ถูกนำมาจากเมืองปัตตานี เนื่องจากเจ้าเมืองปัตตานีเป็นฝ่ายแพ้สงคราม เชลยศึกที่นำมาบ้านปากลัดนั้น ส่วนมากจะเป็นคนที่มีความรู้ทางด้านศาสนา และชาวบ้านเป็นส่วนใหญ่ จากนั้นก็ได้มีญาติพี่น้องจากปัตตานีมาเยี่ยมแต่ไม่ได้กลับไป จนกลายเป็นชุมชนมุสลิมขึ้น คู่กับชาวมอญที่หนีภัยสงครามมาอยู่ที่ ปากลัด
สังคมในยุคแรกใช้ภาษามลายูเป็นหลัก เป็นสังคมเกษตร ทำนาทำสวนหาปลา พึ่งพาธรรมชาติ การเดินทางใช้แม่น้ำลำคลองเป็นทางสัญจร
จากคนรุ่นผู้ใหญ่ที่เล่าสืบทอดกันมา แล้วนำมาเทียบเคียงกับประวัติเครือญาติที่แชบะห์ทำ มีความสอดคล้องกันมาก สิ่งที่เล่าสืบต่อกันมาคือ มุสลิมมลายูปากลัด คือผลพวงจากการแพ้สงครามของปัตตานีในสมัยรัชกาลที่ 1 แต่การอพยพตามกันมามีอีกหลายรุ่น บางส่วนก็กลับไปปัตตานี รุ่นแรกถ้าจะเรียกว่าเฉลยก็ไม่ผิดแต่ประการใด เพราะมันเป็นเรื่องปกติของผู้แพ้ สยามเองก็เคยพบกับสิ่งนี้มาก่อนในอดีต แต่ในมุมมองของพวกเราถือว่าเป็นเรื่องดี แม้บรรพชนจะเจ็บปวดก็ตาม เพราะนี่คือ “ตักดีร”ของพระเจ้า หากไม่มีสงคราม และปาตานีไม่แพ้ มุสลิมมลายูจะอยู่เต็มพื้นที่กรุงเทพฯ/ปริมณฑลหรือ???… ปัจจุบันเมื่อถึงเวลาละหมาดที่ไร เสียง “อาซาน”จะดังถึกก้องไปหมด แค่ในพื้นที่แถบๆปากลัดเองเสียงอาซานดังกึกก้อง นี่คือแผนของตูฮันที่เหนือกว่า แต่อะไรจะได้มาอย่างสะดวกสบายคงเป็นไปไม่ได้ คนรุ่นพวกเรา จึงฉีกประวัติศาสตร์ทิ้งไม่ได้ เพราะต้องระลึกถึงเสมอว่า กว่าจะมีวันนี้บรรพชนของเราต้องแลกด้วยการพลัดพราก ความลำบาก
เรื่องนี้พวกเราตระหนักดี จึงได้ทำศูนย์วัฒนธรรมชุมชนมุสลิม-มลายูบ้านปากลัดขึ้นมา เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชุมชน แน่นอนทุกสังคมย่อมมีความขัดแย้ง สังคมปากลัดก็หลีกหนีสิ่งเหล่านี้ไปไม่ได้ แต่เราจะไม่ให้สิ่งนี้มาเป็นอุปสรรค ทางศูนย์ฯจะบันทึกเรื่องราวทุกฝ่ายไม่ว่าฝ่ายไหนจะมีปัญหาอะไร เราไม่ได้เลือกที่รักมักที่ชัง
จากการบอกเล่าสืบทอดกันมาว่า เริ่มแรกเดิมที่ กลุ่มชนกลุ่มนี้จะถูกนำมาไว้ที่บ้านแขก ฝั่งธนบุรี จากนั้นจะนำมาไว้ที่ปากลัดร่วมกับชาวมอญ จะด้วยเจตนาอะไรก็ตาม แต่เราก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยดี ทั้งๆที่คนยุคนั้นถือว่าเคร่งครัดมาก เป็นสิ่งที่คนรุ่นหลังต้องเปิดบทเรียนนี้ ก็คือคนที่นำมาไว้ที่นี่ส่วนใหญ่เป็นอุลามาอฺ บางส่วนก็เป็นนักปกครอง สอดคล้องกับบันทึกเครือญาติของแชบะห์ ว่าสามพี่น้องจากปัตตานีคือ ดอยี(มุฮัมมัด) ดอเมาะห์(ฟาติมะห์)และโต๊ะวาพะนาดอยีถูกนำมาอยู่ปากลัดร่วมกับชาวมอญ ไม่ทราบว่าเจตนาจะให้มอญกลืนมลายูหรือไม่ แต่ที่ทราบบรรพบุรุษเราหลายคนคือคนมอญด้วย เพราะจากการแต่งงาน ทำให้อุมมะห์ท่านนบีฯมีหลากหลายชาติพันธุ์ ที่สำคัญทำให้มีการขยายเครือญาติลึกเข้าไปสู่ชาติพันธุ์มอญ….ส่วนดอเมาะห์ผู้เป็นน้องสาวก็นำไปอยู่ที่สวนพริกไทยร่วมกับชาวมอญปทุมเช่นกัน จากนั้นก็กระจายเผ่าพันธุ์ออกไปที่คลองบางโพธิ์และคลองหนึ่ง(ปทุมฯ) อย่างที่ผมบอกเมื่อบันทึกก่อนโน้นว่า บิดาของบาบอมุฮัมมัด(บาบอมะ)บรือมิง ก็มาจากสายดอเมาะห์ ท่านมาเรียนที่ปอเนาะบรือมิงตั้งแต่ยังเด็กๆจนมีความรู้มาก และได้แต่งงานกับลูกสาวของบาบอปอเนาะบรือมิง ท่านได้ขายมรดกที่ดินที่บางโพธิ์ นำไปสร้างมัสยิดที่นั้น ผมเองได้ไปเห็นญาริยะฮ์ของท่านแล้ว ในเครือญาติสายนี้ที่เข้ามาเกี่ยวพันกับอีกสายหนึ่งของปากลัดตามบันทึกของแชบะห์คือกลุ่มของโต๊ะวากุพุ(หรือโต๊ะแวกุพุ)นั้นเอง
อีกกลุ่มหนึ่งคือ อิม่ามดามุฮิ คอเตบดามาลี บิหล่านยะยา ที่มาอยู่ปากลัดกลุ่มนี้ก็เป็นเครือญาติกัน คนสมัยนั้นเขากลัวเครือญาติจะห่างกันจึงสานสัมพันธ์ด้วยการแต่งงาน กลุ่ม   ของดอเมาะห์จึงมาแต่งงานกับกลุ่มของคอเตยดามาลี คือสายของโต๊ะวากุพุนั้นเอง
กลุ่มทางปากลัดถิ่นเดิมจากปัตตานีอยู่ที่ ต.สะนอ อ.ยะรัง ตามบันทึกแชบะห์ ลูก       ของดอเมาะห์(ฟาติมะห์) มีหกคน คือ ซาเมาะห์ บีฆู บิมอ แมะเตะห์ …..และตอฮา(อีกคนผมจำชื่อไม่ได้ขอมาอัฟด้วย) ซาเมาะห์ได้ทำหน้าที่เป็นนายกอง ชื่อนายกองซาเมาะห์ คณะทำงานรุ่นแรกๆเคยเล่าว่าได้มีโอกาสตามไปสืบค้นยังเครือญาติที่ ต.สะนอ เมื่อนำสิ่งที่บันทึกของแชบะห์ ปากลัดไปเปรียบเทียบกันปรากฏว่า ชื่อลูกๆทั้งหกคนตรงกัน แต่ทางปัตตานี เพิ่มมาอีกสองคน จากตรงนี้เองได้ข้อเท็จจริงว่า อีกสองคนหนีไปได้ระหว่างเกิดสงครามสยาม-ปาตานีดารุสลาม ไม่ได้ถูกนำมาที่กรุงสยามด้วยในเวลานั้น พี่น้องทางปัตตานีอ่านตรงนี้ หากพอจะรู้ช่วยติดต่อมาที่ผมด้วย แต่ด้วยระยะเวลากว่า 200 ปีผมไม่ทราบว่าข้อมูลจะพอต่อติดหรือไม่ หากมีทางศูนย์ฯถือว่าเป็นข่าวที่ดีมาก “ซีละตุรเราะห์ฮีม”(ความสัมพันธ์ทางเครือญาติ) เป็นสิ่งสำคัญมาก
ด้วยระยะเวลาที่ยาวนาน ประกอบกับการที่ไม่ได้บันทึก และความกังวลเรื่องความปลอดภัย ทำให้ร่องรอยเครือญาติจากทางปากลัดกับปัตตานีค่อยๆจางหายไป รุ่นต่อๆมาเราพยายามที่จะสืบค้น แต่ก็มีความยากลำบากในหลายๆประการ ที่สำคัญคือทุนทรัพย์ที่จะทำเรื่องนี้ไม่มี ที่ทำกันอยู่เท่าที่ผ่านมาและปัจจุบันก็ด้วยใจรัก ยิ่งคนรุ่นผู้ใหญ่ล้มหายตายจาก มันก็ยิ่งลำบากมากขึ้น หากหน่วยงานรัฐเห็นความสำคัญเรื่องความสัมพันธ์ทางเครือญาติ ลดความหวาดระแวงเรื่องความมั่นคงลงไป คิดถึงความสัมพันธ์อันดีจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะสนองนโยบายพระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง…”ได้เป็นอย่างดี ส่วนโต๊ะวาพะนานั้นท่านมีลูก 2 คนคือ โต๊ะแซะห์อลี และ หะยีสะเอ็ง ที่ผมนำเสนอตรงนี้ถือว่าเป็นส่วนต้นๆของเครือญาติที่มาจากปัตตานีเลย ฉะนั้นท่านที่อยู่ปัตตานี มีบันทึกที่รายชื่อสอดคล้องต้องกัน เราคงได้มีโอกาสพูดคุยกันนะครับ
ตามบันทึกของแชบะห์ ปากลัด ที่ศูนย์วัฒนธรรมฯเก็บรวบรวมไว้ สายดอยี(มุฮัมมัด) มีลูกสองคนคือแสง(อับดุลลอฮ์)กับมาน(อับดุรเราะห์มาน) แสงหรือแชแสงคือนายกองแสง ด้วยท่านมีความรู้ทางด้านการปกครอง ทางรัฐจึงตั้งให้ท่านทำหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับเรื่องต่างๆในละแวกนี้ แสงมีลูกสองคนคนคือกะนิเยาะฮ์(โต๊ะของอาจารย์เซ็ง ทุ่งครุ) และ ฮัจยีกะจิ
ฮัจยีกะจิ มีประวัติของท่านนี้น่าสนใจ จะได้นำเสนอในโอกาสต่อไป แต่ขอเกริ่นนิดนึ่ง ว่า แชจิได้อพยพไปอยู่ที่คลองมะสง อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี ได้ไปสร้างชุมชนที่นั้น ปัจจุบันชุมชนนี้มีมัสยิดชื่อ “บียามีอิลมุสลิมีน” สุดท้ายท่านได้อพยพอีกครั้งหนึ่งถือว่าเป็นครั้งใหญ่และครั้งสุดท้าย ไปที่ จ.นครศรีธรรมราช อ.ปากพนัง ชื่อหมู่บ้าน “แสงวิมาน” เจ้าของส้มโอพันธุ์ “ทับทิมสยาม”อันลือชื่อ จากบ้านแสงวิมานตรงนี้ ได้แตกแขนงออกไปอีกหลายหมู่บ้าน เช่น ที่นิคมควนกาหลง จ.สตูล นิคมคลองท่อม จ.กระบี่ ต.ลำนารายณ์ อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี
ส่วนจากปากลัด จะแยกย้ายไปที่ โรงกระโจม อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี(ผมไม่มั่นใจว่าโรงกระโจมขึ้นกับอำเภอไหนแน่)นำโดยโต๊ะระดิ่ง(ที่มาของสกุลระดิ่งหิน) อีกกลุ่มแยกไปที่ เขาขยาย จ.ชลบุรี และ ที่ จ.เพชรบุรี
อันนี้ผมพูดเฉพาะกลุ่มสายดอยีนะครับ ส่วนดอเมาะคงต้องขอให้ทางพี่น้องสวนพริกไทย บางโพธิ์ช่วยเชื่อมข้อมูลด้วย ว่าแยกย้ายไปไหนบ้าง..???
แชบะห์ปากลัดเองทางฝ่ายพ่อคือแชมาน(อับดุรเราะห์มาน) ฝ่ายแม่ท่านคือซะห์รอ ลูกของคอเตบดามาลี ผมย้ำความจำอีกนิดคือ ตามบันทึกของท่านคือ อิม่ามดามุฮิ คอเตบดามาลี บิล้าลยะยา สามท่านนี้มาจากปัตตานี สามคนนี้คาดว่าน่าจะเป็นสามพี่น้องเพราะท่านบันทึกในกลุ่มเดี่ยวกัน อิม่ามดามุฮิมีลูกดังนี้ มุฮัมมัด อับดุลลอฮ์ ดาวี แมะเตะห์ โซะห์ ดอนิ ดอเซาะห์(อัลมัรฮูม อ.อับดุลการีม อัลแอเลาะก็สืบมาทางสายนี้) จังกา และฮาลีมะห์ ลูกของอิม่ามดามุฮิบางส่วนก็กลับไปอยู่ปัตตานี ส่วนคอเตบดามาลีมีลูกคือ วานิ ยะอฺโก๊บ กอเดร ญาล้าล ซะห์รอ(แม่แชบะห์) ฮาโล๊ะห์ และซางี ส่วนบิล้าลยะห์ยามีลูกชื่อจูแมะ และคือบรรพบุรุษของ แช่ม พรมยงค์ อดีตจุฬาราชมนตรี หนึ่งในคณะราษฎรสายมุสลิม
คณะทำงานของเราเคยไปพบกับอดีตอิม่ามมัสยิดแก้วนิมิต คลองหนึ่ง คืออิม่ามชำชุดดีน(ถ้าจำชื่อท่านไม่ผิด) ท่านเล่าถึงแชบะห์พายเรือมาที่คลองหนึ่ง โดยมีลูกสาว คือแมะขาว นั่งมาด้วย เรื่องราวได้ถูกประติดประต่อจากท่านมากมาย ทำให้คนรุ่นเราเห็นว่า นี่คือการให้ความสำคัญของคนยุคนั้นต่อคำสั่งของศาสนาในเรื่องเครือญาติ ไม่ว่าจะลำบากคาไหน ก็พยายามไปหาจนได้ ท่านลองนึกภาพการพายเรือจากปากลัด ออกแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าตามลำคลองต่างๆจนไปถึงคลองบางโพธิ์ คลองหนึ่ง จ.ปทุมธานี สายสัมพันธ์อันแนบแน่นถือว่าคนยุคนั้นทำได้ดีมาก
ฉะนั้นเวลาผมไปสวนพริกไทย บางโพธิ์ คลองหนึ่ง ผมแค่บอกว่าผมเป็นลูกหลานแชบะห์ปากลัด ผมกินและนอนได้ทั้งสามหมู่บ้าน นี่คือเรื่องจริง ปัจจุบันก็ยังคงกินข้าวได้เช่นเคย คำว่าลูกหลานแชบะห์ ยังคงเป็นมนต์ขลัง นี่เพราะคนรุ่นนั้นเขาเอาญาติพี่น้อง
อย่าลืมนะครับ 13 ธันวาคม เราพบกันที่ปากลัด กับงานของศูนย์วัฒนธรรมมุสลิม-มลายูบ้านปากลัด มหกรรมอาหารมลายูพื้นถิ่นบ้านปากลัด ผมค้างไว้แค่นี้ก่อนตอนต่อไปจะมีรายละเอียดมานำเสนอต่อไป
เพิ่มเติมข้อมูลและความเห็น