ชุมชนบ้านปากลัด

ชุมชนบ้านปากลัด  เป็นชุมชนมุสลิมเก่าแก่ที่สุดในจังหวัดสมุทรปราการ   พี่น้องมุสลิมที่นี้แบ่งออกเป็น ๒ รุ่น  คือ มุสลิมรุ่นแรกอยู่มาตั้งแต่เดิม ก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นมุสลิมที่มีเชื้อสายที่มาจากมะละกา     จากประเทศอินเดียซึ่งเดินทางมาค้าขายและปักหลักมาช้านาน บริเวณฝั่งตลาดพระประแดง

กระทั่งต้นรัตนโกสินทร์ในสมัยสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยรัชกาลที่ 2 ทรงตั้งเมืองนครเขื่อนขันธ์ขึ้น ใน ปี พ.ศ.๒๓๕๘ ได้โปรดเกล้าให้บุตรชายของพระยาเชยผู้นำมอญที่เข้ามาพึ่งพระโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์สยาม เป็นเจ้าเมืองนครเขื่อนขันธ์ ซึ่งสืบต่อกันมาถึง ๘คน

มุสลิมชาวอินเดียส่วนหนึ่งได้รับราชการทำงานรับใช้เจ้าเมืองนครเขื่อนขันธ์ ในหน้าที่ดูแลบัญชีตามความถนัดเป็นที่พออกพอใจของเจ้าเมือง ที่ทั้งเก่ง ทั้งขยัน และซื่อสัตย์ ชาวอินเดียที่มาค้าขายและทำงานเกือบทั้งหมดจะมาเฉพาะผู้ชาย เจ้าเมืองเกรงว่าไม่นานพวกนี้ก็จะต้องกลับไป เพราะไม่มีอะไรผูกมัด วันหนึ่งในขณะที่ทั้งชาวมอญ และอินเดียต่างต้องมาเล่าแจ้งแถลงไขถึงงานที่ทำไป ในแต่ละวันให้เจ้าเมืองได้รับทราบ เหล่าข้าราชบริพารมอญที่มาร่วมต่างก็พาลูกสาวมาด้วย เจ้าเมืองเลยเอ่ยปากให้ชาวอินเดียที่รับใช้อยู่นั้นเลือกพวกนางไว้เป็นคู่ครอง ซึ่งเป็นกุศโลบายมิให้พวกนี้ต้องกลับบ้านเพราะไม่มีครอบครัว จากคำบอกเล่าขานกันว่า เสียงร้องของสาวชาวมอญร้องไห้กันระงมเพราะกลัวที่ต้องไปเป็นเมียของพวกแขกที่ทั้งตัวใหญ่และดำมีหนวดยาว แต่ทุกอย่างก็ผ่านด้วยดี จึงจะเห็นได้ว่ากลุ่มมุสลิมชาวอินเดียรุ่นแรก ๆ กับชาวมอญบ้านปากลัดจะเป็นเครือญาติใกล้ชิดกัน เรื่องเหล่านี้ยังพอมีประวัติที่เชื่อถือได้ เพราะยังมีลูกหลานสืบทอดกันจนถึงปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นตระกูล  “ยังเจริญ” จากมะละกา หรือตระกูล     ไวทยานนท์ สองตระกูลนี้ส่วนใหญ่เข้ารีตศาสนาพุทธ ส่วนตระกูลวงศ์พานิชจากอินเดีย ยังนับถือศาสนาอิสลามอยู่
ส่วนมุสลิมรุ่นที่สองนั้นมาอยู่ในราว  ๒๐๐ กว่าปี  ช่วงตอนต้นรัชกาล ที่ ๑ ของกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. ๒๓๒๙ ซึ่งเป็นเชลยศึก ที่ถูกจับมาจากเมืองปัตตานี เนื่องจากเจ้าเมืองปัตตานีเป็นฝ่ายแพ้สงคราม  เชลยศึกที่นำมาบ้านปากลัดนั้น  ส่วนมากจะเป็นคนที่ค่อนข้างมีความรู้ทางด้านศาสนา   จากนั้นก็ได้มีญาติพี่น้องจากปัตตานีมาเยี่ยมแต่ไม่ได้กลับไป   จนกลายเป็นชุมชนมุสลิมขึ้น   คู่กับชาวมอญที่หนีภัยสงครามมาอยู่ที่ปากลัด
สังคมในยุคแรกใช้ภาษามลายูเป็นหลัก  เป็นสังคมเกษตร ทำนาทำสวนหาปลา พึ่งพาธรรมชาติ การเดินทางใช้แม่น้ำลำคลองเป็นทางสัญจร  จากการที่เป็นเชลยจะทำกิจกรรมบางอย่างทำได้ยาก การรวมตัวกันมากๆ ก็จะถูกทางการเพ่งเล็งตลอดเวลา   ด้วยกับสาเหตุที่เป็นเชลยศึกเกรงว่าถ้ารวมตัวกันจะเกิดการแข็งเมืองขึ้นมาอีก

เมื่อเวลาผ่านไปเชลยเหล่านี้เริ่มประกอบสัมมาอาชีพมีที่ทำกินบางคนที่มีความรู้ก็ได้รับราชการเป็นเก็บเบี้ยค่าที่ดินส่งเจ้าเมืองเป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจและสามารถอยู่ร่วมกับชาวมอญได้เป็นอย่างดีกอปรกับมีมุสลิมเดิมที่อาศัยอยู่ก่อนแล้ว การรวมกลุ่มของมุสลิมจึงเกิดขึ้นเป็นชุมชน มีการสร้างมัสยิด โดยการสนับสนุนผ่านการเงินจากกลุ่มพ่อค้ามุสลิมที่มาอยู่ก่อน หรือที่เรียกกันติดปากว่าแขกเก่า ซึ่งมัสยิดหลังแรกเป็นอาคารไม้ชั้นเดียวบนเนื้อที่ ๓๐๐ ตารางวา ที่ได้รับบริจาคจากฮัจยีชาอิ้ล บุตรโต๊ะวังปานา สร้างในปี พ.ศ.๒๔๒๕ และเนื่องจากเชลยส่วนใหญ่เป็นผู้รู้ทางศาสนา จึงมีญาติพี่น้องและลูกหลานจากปัตตานี และรัฐกลันตันของมลายูมาเยี่ยมและมาเล่าเรียนกันมากขึ้น  บางส่วนมาแล้วก็กลับไป แต่ก็ยังมีอีกเป็นจำนวนมากที่มาแล้วไม่กลับ เพราะสามารถอยู่มีที่กิน ที่นา สามารถทำมาหากินได้อย่างสบาย ชุมชนมุสลิมบ้านปากลัดจึงเกิดขึ้น และจากการที่มีผู้รู้ทางศาสนา หรือที่เรียกกันว่า “โต๊ะอาเหล็ม” หลายคน จึงมีมุสลิมจากพื้นที่ต่าง ๆ มาเล่าเรียนศาสนาอิสลามกันมาก เล่ากันว่า “ถ้าพายเรือจากต้นคลองเข้าสู่หมู่บ้านแขกจะได้ยินแต่เสียงคนท่องอ่านอัลกุรอานไม่ขาดเสียงตลอดลำคลอง” ดังจะเห็นได้ว่าผู้ที่ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี เกือบทุกท่านต่างก็เคยได้มาเล่าเรียนกับครูบาอาจารย์ในบ้านปากลัดทั้งสิ้น

บ้านปากลัดในอดีตคือแหล่งความรู้ทางวิชาการศาสนามากมาย บุคลากรในอดีตของปากลัดหลายท่านมีความรู้ทางศาสนาดีมาก ปากลัดจึงเป็นแหล่งที่มีผู้คนแวะเวียนมาศึกษาหาความรู้อีกแห่งหนึ่งของส่วนกลางจากอีกหลายๆที่ ผู้คนมากมายได้รับความรู้จากตรงนี้ แล้วนำความรู้ไปต่อยอด ใช้ประโยชน์ในสังคมตนเอง ปากลัดจึงเป็นแหล่งสร้างคนที่มีคุณภาพในอดีตที่เราภาคภูมิใจ แต่นั้นมันคืออดีต ที่เราจะนำกลับคืนมาได้ยากมาก แต่อดีตก็เป็นบทเรียนเล่มใหญ่ให้เราได้ศึกษาว่าบรรพชนเขาสร้างกันมาได้อย่างไร ปัจจุบันเป็นอย่างไร แล้วอนาคตสิ่งเหล่านี้จะหวนกลับคือมาได้หรือไม่ มันก็อยู่ที่จิตสำนึกทางประวัติศาสตร์ ที่คนรุ่นนี้จะพีงสังวร

สถาบันปอเนาะบ้านปากลัด
ในยุคอดีต บรรพบุรุษของบ้านปากลัด อ.พระประแดง คือกลุ่มบุคคลที่เกิดจากผลกระทบในสงครามระหว่างสยามกับปัตตานี และได้ถูกนำจากปัตตานีมายังกรุงสยาม หนึ่งในนั้น มี 3 พี่น้อง คือ 1. อิม่ามดอมุฮิ 2. คอเตบดามาลี 3. บิหลั่นยะห์ยา ตามบันทึกของอิม่ามโต๊ะครูอับบาส บินอับดุรเราะห์มาน(แชบะห์ แสงวิมาน) ได้บันทึกสายตระกูลว่า ในการมาครั้งนั้นได้มีผู้ที่มีความรู้เรื่องศาสนาอิสลามได้ถูกนำมาด้วยเป็นจำนวนมาก เมื่อมีการตั้งชุมชน สถาบันที่ถูกจัดตั้งขึ้นพร้อมกับชุมชนคือมัสยิด มัสยิดถือว่าเป็นสถาบันที่เป็นส่วนของการเคารพภักดี(อิบาดะห์)และการศึกษาไปในตัว บรรพบุรุษได้ใช้มัสยิดเป็นสถานที่ในการถ่ายทอดและสั่งสอนอบรมให้กับลูกหลานมาเป็นลำดับ นอกจากนั้นยังใช้บ้านเรือนของแต่ละท่านเป็นสถานที่ให้ความรู้ตามถนัดทางด้านวิชาการของท่านเหล่านั้นด้วย

ชุมชนบ้านปากลัด ในยุคที่มีการกล่าวถึงเรื่องการเรียนด้านศาสนามากที่สุดดูจะเป็นในยุคสมัยของท่านโต๊ะครูมุสตอฟา อิบรอฮีม (โต๊ะครูจำปา ที่ชาวต่างศาสนิกเรียกท่าน) ท่านเป็นโต๊ะครูที่บรรดาโต๊ะครู(อุลามะอฺ)ในแถบเอเชียให้การยอมรับ ท่านเป็นผู้ตรวจทานตำราภาษาอาหรับที่แปลเป็นภาษามลายูเป็นจำนวนมาก และยังสอนหนังสืออยู่ที่เมืองมักกะฮ์ ประเทศซาอุดิอารเบียจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต มาในยุคของท่านโต๊ะครูอับบาส บินอับดุรเราะฮ์มาน(แสงวิมาน) นั้นมีบรรดาโต๊ะครูหลายท่านที่มีความรู้ศาสนา เช่น ท่านโต๊ะครูมุสตอฟา การีมี(บิดาลุงแช่ม) ท่านโต๊ะครูอับดุลเลาะห์ การีมี(โต๊ะกีดำ) ท่านโต๊ะครูอับดุลฮามิด หรือ เวาะมิ  (แชยา) ท่านโต๊ะครูฮาซัน บินฮูเซ็น (แชฉ่ำ) ท่านซำซุดดีน มุสตาฟา (ลุงแช่ม พรหมยงค์) ท่านโต๊ะครูอับดุลมานาฟ(ครูเจ๊ะนะ)

ยุคหลังๆบรรดาศิษย์ของโต๊ะครูเหล่านั้นได้สืบทอดด้านการเรียนอย่างต่อเนื่อง เช่นครูฮัจยีอาบีดีน(ครูดีน) แสงวิมาน ครูฮัจยีอัสอารี(ครูอารี) แสงวิมาน ท่านครูสุอิ๊บ แสงวิมาน รวมทั้งครูสุลัยมาน แสงวิมาน เป็นต้น บรรดาโต๊ะครูเหล่านี้ได้สร้างลูกศิษย์ไว้เป็นจำนวนมาก เป็นที่ภาคภูมิใจของชาวปากลัดคือ บรรดาโต๊ะครูเหล่านั้นได้มีส่วนในการผลิต จุฬาราชมนตรี ประมุขมุสลิมในประเทศไทยถึง 3 ท่าน คือ นายแช่ม พรหมยงค์ นายต่วน สุวรรณศาสน์ และ นายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ ซึ่งทั้งสามท่านได้เล่าเรียนมาจากท่านโต๊ะครูอับบาส บินอับดุรเราะห์มาน(แสงวิมาน)

ปอเนาะบ้านปากลัด ในยุคที่เรียนกีตาบ(หนังสือ)มลายูนั้น อาจจะแตกต่างจากปอเนาะที่ทางสามจังหวัดภาคใต้และที่อื่นๆก็คือ จะไม่มีการปลูกปอเนาะเป็นหลังๆให้ลูกศิษย์อยู่ แต่จะใช้การฝากลูกหลานที่มาเรียนให้อยู่ตามบ้านญาติพี่น้องในชุมชน เมื่อถึงเวลาเรียนก็จะเดินมาที่บ้านโต๊ะครู ส่วนโต๊ะครูแต่ละท่านก็จะมีความชำนาญต่างกันในแต่ละสาขาวิชา

บรรดาโต๊ะครูเหล่านี้ที่ได้ผลิตลูกศิษย์ให้เป็นบุคลากร ที่มีความรู้ทางด้านศาสนา กระจายกันไปในชุมชนต่างๆทั้งในกรุงเทพฯ เขตปริมณฑลและจังหวัดต่างๆ อีกเป็นจำนวนมาก

ปัจจุบันนี้เราได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์และความเป็นมาในเรื่องขององค์ความรู้ของบรรพบุรุษ เพื่อให้เราตระนักว่า ชุมชนบ้านปากลัด คือ แหล่งความรู้ทางด้านศาสนา ตลอดร้อยกว่าปี ที่ผ่านมา

สังคมมุสลิมให้ความสำคัญและยกย่องผู้รู้ทางศาสนาเป็นอันดับแรก ดังนั้นผู้รู้จากมุสลิมบ้านปากลัดจึงเป็นที่รู้จักในแวดวงมุสลิมมาช้านาน ไม่ว่าจะเป็นแชร์บ๊ะ แชร์ฉ่ำ แชร์ฟา โต๊ะกีดำ ลุงแช่ม หรือฮัจยีแช่ม พรหมยงค์ อดีตจุฬาราชมนตรีท่านแรกในสายซุนนี ฯลฯ และบุคคลเหล่านี้ต่างก็มีลูกศิษย์ลูกหาไปทั่วประเทศ หรือแม้แต่ในต่างประเทศอย่างมาเลเซีย และมหานครมักกะฮฺ ประเทศซาอุดิอาระเบีย และบุคคลเหล่านี้อีกเช่นกันที่ได้สร้างความสัมพันธ์ อันดีกับพี่น้องต่างศาสนิกที่อยู่ รายล้อมไม่ว่าจะเป็นชาวมอญ ชาวไทยพื้นที่ หรือแม้แต่ชาวจีน ซึ่งก็มีอยู่จำนวนมาก ณ ที่นั้น.. จนต่างหล่อหลอมเป็นกลุ่มคนเดียวกันในที่สุด

มุสลิมบ้านปากลัดเป็นกลุ่มคนที่อยู่มาช้านาน ตั้งก่อนมีนครเขื่อนขันธ์ จนมาถึงอำเภอพระประแดง ของจังหวัดสมุทรปราการในปัจจุบัน และเมื่อเวลาผ่านไปนานเข้าจำนวนผู้คนก็มากขึ้น มุสลิมบ้านปากลัดจึงได้มีการอพยพไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ของจังหวัดใกล้เคียง อาทิ อำเภอทุ่งครุ กทม. นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา เพชรบุรี ชลบุรี หรือแม้แต่นครศรีธรรมราช

ในขณะเดียวกันเมื่อเกือบ ๑๐๐ ปี ที่ผ่านมาก็มีมุสลิมอีกจำนวนมากจากที่ต่าง ๆ ทั้ง   มีนบุรี ฉะเชิงเทรา นครนายก นนทบุรี อยุธยา ต่างก็อพยพเข้ามาในจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อตั้งหลักปักฐานทำมาหากิน ในอำเภออื่น ๆ ของจังหวัด เช่น อำเภอเมือง บางพลี บางบ่อ  สำโรง   จึงทำให้จำนวนมุสลิมในจังหวัดสมุทรปราการเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ จนถึงปัจจุบันในจังหวัดสมุทรปราการมีพี่น้องมุสลิมอาศัยอยู่ทั้งที่เป็นสัปปุรุษมีชื่อในทะเบียน และไม่ได้เป็นสัปปุรุษเป็นประชากรแฝงรวมแล้วเกือบ 3 หมื่นคน อาศัยอยู่ใน ๑๓ มัสยิด

เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ที่เมื่อมีการพูดถึงจังหวัดสมุทรปราการ ชุมชนมุสลิมกลับไม่ได้รับการกล่าวขานถึง ทั้ง ๆ ที่เป็นชุมชนเก่าแก่ มีความเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์ของชาติมาโดยตลอด แต่เมื่อพิจารณาแล้วก็คงจะกล่าวโทษใครไม่ได้เพราะแม้แต่พี่น้องมุสลิมในจังหวัดสมุทรปราการเอง ก็แทบจะไม่มีใครรู้ที่มาที่ไปของบรรพบุรุษ ไม่มีแม้แต่ประวัติหรือจะเล่าขานกันต่อ ๆ ไปให้ลูกหลาน ได้รับรู้ หรือได้ภาคภูมิใจ ในความเป็นคนพระประแดง คนสมุทรปราการแต่ก็ยังไม่สายเกินไป ถ้าเราจะหันมาให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ถึงแม้เราจะให้อดีตกลับคืนมาไม่ได้แต่อย่างน้อยที่สุด ประวัติศาสตร์ก็สามารถทำให้เรารู้ได้ว่าเราเป็นใครมาจากไหน และเราสามารถเอาบทเรียนจากประวัติศาสตร์มาเป็นแนวทางสู่อนาคต อย่างน้อยเราจะได้รับรู้ว่าทำไมเราต้องมาอยู่ที่นี่ ทำไมเราไม่ย้ายไปที่อื่น ทำไมบรรพบุรุษของเราถึงอยู่ร่วมกันกับพี่น้องต่างศาสนิก ต่างเชื้อชาติ ได้อย่างดีเหมือนพี่น้องกัน และเหล่านี้แหละจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเราเอง ชุมชนของเรา และประเทศชาติโดยรวม

เมื่อเวลาผ่านไป จากสังคมเกษตรเปลี่ยนเป็นสังคมอุตสาหกรรม  วิถีชีวิตของคนในชุมชนก็เปลี่ยนไปด้วย  ภาษามลายูที่เคย่ใช้ก็หายไป  อาชีพที่เคยพึ่งพาธรรมชาติก็หมดไป     เพราะทุกคนต้องแข่งขันกันทำงาน อยู่ในโรงงานอยู่ในสำนักงาน   อยู่ในห้างร้านต่างๆ  ปัจจุบันได้มีเครื่องมือสื่อสารในการรับรู้มากขึ้น การไปมาหาสู่ และการเยี่ยมญาติเหมือนในอดีตได้ลดน้อยลงไปด้วย

มัสยิดดารอสอาดะห์

 masjiddarosaadah1

ประวัติมัสยิดดารอสอาดะห์

            มัสยิดดารอสอาดะห์หลังแรกสร้างประมาณ พ.ศ. ๒๓๖๗ ซึ่งเป็นไม้สักชั้นเดียวใต้ถุนสูงเรือนไทยแบบมลายู จากคำบอกเล่าของผู้สูงอายุในชุมชนบ้านปากลัด เช่นโต๊ะเยาะห์ แสงมาน โต๊ะทิม วรรณวิจิตร แชฮีม แสงมาน เป็นต้น เล่าว่า เป็นบ้านเรือนไทยทรงสูงชั้นเดียว หลังคาเป็นกระเบื้องวาวเสาไม้สักใหญ่หลายต้น มีนอกชานหรือระเบียงประตูไม้สักหนาสูงประมาณ ๓ เมตร ใต้ถุนสูงเป็นพื้นดินบริเวณโดยรอบเป็นสวน มีสระนำ้อยู่ทางทิศตะวันตก  เข้าใจว่าเป็นที่อาบน้ำละหมาดตั้งอยู่บนเนื้อที่ประมาณ ๓๐๐ ตารางวา  ซึ่งที่ดินดังกล่าวได้รับการบริจาค (วากัฟ)จาก ฮัจยีซาอิ้ล (บุตรโต๊ะวังปานา) ใช้ประกอบศาสนกิจมาเป็นเวลาประมาณ ๑๐๐ ปี

 ประวัติมัสยิด หลังที่ ๒ สร้าง ๒๔๖๕-๒๕๔๖

 daros2

                          มาในสมัยของ ฮัจยีอับบาส แสงวิมาน (อิหม่าม)  ฮัจยีอับดุลเลาะห์การีมี (โต๊ะกีดำ คอเต็บ)  นายอับดุลเราะห์มาน แสงวิมาน (บิหล่าน) สร้างมัสยิดดารอสอาดะห์หลังที่สองขึ้นทดแทนมัสยิดเรือนไม้ ที่หมดสภาพตามกาลเวลา หรือความจำเป็นตามการใช้งานในสมัยนั้น ทั้งได้ร่วมบริจาคสมทบในการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ    อาคารมัสยิดหลังดังกล่าวเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ๒ ชั้น โดยมี นายกอเซ็ม แปลน ชาวอินโดนีเซีย  เป็นผู้ออกแบบและมีช่างชาวไต้หวันทำการก่อสร้าง  ส่วนที่เป็นไม้ได้นำไม้จากมัสยิดหลังแรกมาใช้งานทั้งหมด   (เป็นไม้สักส่วนใหญ่)  ใช้งบประมาณในการก่อสร้างในขณะนั้นประมาณ ๔๐,๐๐๐ บาท  ซึ่งเป็นอาคารมัสยิดที่มีสถาปัตยกรรมที่ทันสมัยในยุคนั้น ทั้งความสวยงามความแข็งแรง ตลอดวัสดุอุปกรณ์ที่นำมาใช้มีคุณค่าจนถึงปัจจุบัน ช่น หินอ่อนจากอิตาลี ประตูไม้สักเป็นต้น  สามารถรองรับผู้่มาละหมาดได้เป็นจำนวนมากตลอดจนกิจกรรมต่างๆ  ที่มีขึ้นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันมัสยิดฯ   หลังที่สองนี้ก่อสร้างใน พ.ศ. ๒๔๖๕ และมีอายุการใช้งานโดยประมาณ ๗๘ ปี ตลอดอายุการใช้งานได้มีการบูรณะ   ซ่อมแซมปรับปรุงมาหลายครั้ง เช่น พื้นชั้นดาดฟ้าและชั้นล่างของอาคาร  ำการฉาบปูนฝาผนังใหม่ เป็นต้นรูปทรงของตัวอาคารแบบผสมผสาน เช่นเสาแบบโรมัน หลังคาทรงจั่วแบบไทย หน้าต่างประตูแบบอาหรับ ยอดโดมแบบมลายู

 มัสยิดหลังที่ ๓ สร้าง พ.ศ. ๒๕๔๖

 01_224

ตัวอาคาร เป็นอาคารเสริมเหล็ก ๓ ชั้น และชั้นใต้ดิน

–  พื้นที่ใช้สอย มีพื้นที่ใช้สอยทั้งสิ้น ๑,๙๐๕ ตรม. สามารถรองรับผู้ทำละหมาดได้๑,๒๐๐ คน

–  ชั้นเอนกประสงค์ ประกอบด้วยห้องรับรอง ห้องสำนักงาน ห้องพักผู้ดูแลมัสยิดห้องอาบน้ำมัยยิด ห้องควบคุมเสียง ที่อาบน้ำละหมาด แยกส่วน  ชาย – หญิง

   ห้องสุขา แยกส่วน ชาย – หญิง

–  พ้ืนที่ชั้น ๒ เป็นชั้นที่ใช้ละหมาด เป็นห้องโถงขนาดใหญ่  และมีห้องประชุมของคณะกรรมการมัสยิดฯ

–  พื้นที่ชั้น ๓ เป็นชั้นลอยสามารถทำการละหมาดได้ จะมองเห็นห้องโถงใหญ่

–  พื้นที่ชั้นใต้ดิน เป็นห้องใช้เก็บพัสดุ เครื่องครัว เครื่องใช้ต่าง ๆ

–  งบประมาณในการก่อสร้าง ๓๔,๗๑๗,๒๕๕ บาท(สามสิบสี่ล้านเจ็ดแสนหนึ่งหมื่นเจ็ดพันสองร้อยห้าสิบห้าบาท)

 

เพิ่มเติมข้อมูลและความเห็น