เมื่อกล่าวถึง (ปัตตานี) คนส่วนใหญ่มักจะมองดินแดนดังกล่าวในกรอบความคิดว่า
เป็นชายแดนที่มีชาวมุสลิมอันเป็นคนกลุ่มน้อยของประเทศไทยแต่หากมองย้อนกลับในอดีตจะพบว่า ดินแดนแถบนี้คือ รัฐปัตตานีที่มีพัฒนาการทางด้านการเมือง เศรษฐกิจและวัฒนธรรมจากอาณาจักรโบราณบนคาบสมุทรมลายูที่ผูกพันกับระบบการค้าทางทะเล ปัตตานีเคยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรลังกาสุกะ รุ่งเรืองขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๗ ด้วยทรัพยากรแร่ธาตุและที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมส่งผลให้เมืองท่าแห่งนี้ เติบโตเป็นสถานีการค้าใหญ่ที่มีคนหลากหลายเชื้อชาติเข้ามาติดต่อสัมพันธ์ เกิดเป็นชุมชน และตลาดการค้า ก่อนจะพัฒนาสู่อาณาจักรสำคัญบนคาบสมุทรมลายู
ลังกาสุกะเจริญรุ่งเรืองมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๒๐ จึงลดบทบาทจากเมืองท่านานาชาติ เป็นเพียงเมืองท่าระดับท้องถิ่นจากนั้นชื่อลังกาสุกะก็ค่อยๆเลือนหายไปจากบันทึกต่างๆ กระทั่งปรากฏชื่อของ“ปัตตานี”ขึ้นแทนที่ตระกูลผู้สร้างปัตตานี คือราชวงศ์ศรีวังสา เป็นผู้ย้ายเมืองจากลังกาสุกะมายังปัตตานีจากนั้นโอรสของพระองค์นามว่าพญาอินทิรา สืบราชสมบัติต่อ แล้วเปลี่ยนมารับนับถืออิสลาม พร้อมกับเปลี่ยนพระนามเป็นสุลต่านอิสมาแอล ชาห์ แห่งปัตตานีดารุสสาลาม (นครแห่งสันติ)
ตามหลักฐานปรากฏให้เห็นได้ชัดว่า ศาสนาอิสลามเข้ามาตั้งอยู่อย่างมั่นคงในบริเวณทางตอนเหนือของสุมาตราตั้งแต่พุทธศตวรรษที่๑๘ แต่ยังไม่ได้เผยแพร่ในวงกว้าง ต่อมาในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙ อิสลามได้แผ่ขยายจากปาไซในเกาะสุมาตรา ไปยังมะละกาแล้วมุ่งไปตะวันออกที่เทอร์เนต และติมอร์ ส่วนทิศเหนือก็ได้แผ่ไปถึงปัตตานี และจามปา ทางตอนใต้ของเวียดนาม
นับตั้งแต่ศาสนาอิสลามเข้ามานั้น ปัตตานีรุ่งเรืองทางการค้าสืบเรื่อยมาจนถึงยุคทองสมัยราชวงศ์ศรีวังสาซึ่งปกครองโดยรายาสตรีทั้งสี่ ได้แก่ รายาฮีเยา รายาบีรู รายาอูงู และรายากุนิง โดยเฉพาะรายาฮีเยาทรงเปิดประเทศรับชาวต่างชาติเข้ามาค้าขาย ที่ปัตตานีทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง ชาติตะวันตก เช่น โปรตุเกส ฮอลันดา และชาวตะวันออก เช่น อาหรับ จีน และญี่ปุ่น ต่างเข้ามาติดต่อค้าขายที่ปัตตานีนอกจากนี้ยังมีการส่งทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ ร่วมทั้งกรุงศรีอยุธยาด้วย
เมื่อกล่าวถึงกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.๒๓๑๐ ที่ไทยเราเสียกรุงครั้งที่ ๒ จากการทำลายเมืองศรีอยุธยา โดยกองทัพของพม่าในช่วงนั้นจนถึงยุคกรุงธนบุรีอีก ๑๕ ปี คือระหว่างปี พ.ศ.๒๓๑๐-๒๓๒๕ ประเทศไทยอยู่ในระหว่างการฟื้นฟูประเทศ อาณาเขตแว่นแคว้นทั้งหลายแตกกระจัดกระจายยังไม่รวมกันเหนียวแน่นเป็นปึกแผ่นจนถึงยุคกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีเริ่มปี พ.ศ.๒๓๒๕ ต่อมาในปีพ.ศ.๒๓๒๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาล ที่ ๑ ได้ส่งพระอนุชา คือสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (พระเจ้าเสือ) เป็นทัพหลวง มีพระยาราชบังสัน (แม้น)ขุนนางมุสลิมเชื้อสายสุลต่านสุไลมานชาห์ ซึ่งเป็นแม่ทัพเรือในสมัยรัชการที่ ๑ เป็นทัพหน้า สมทบด้วยเจ้าพระยานครแห่งเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อสยามชนะสงครามพร้อมกับยึดเอาปืนใหญ่ กระบอกที่ชื่อว่าศรีนากือรี (ศรีนคร) กับศรีปาตานี (ปัจจุบันอยู่หน้ากระทรวงกลาโหม) ลงแพเพื่อจะล่องเอาไปกรุงเทพฯแต่ปืนใหญ่ศรีนากือรีตกลงทะเลเสียก่อนพร้อมกับควบคุมลูกหลานสุลต่าน พร้อมด้วยวงศานุวงศ์ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ นักการศาสนาและประชาชนจำนวนประมาณ ๔,๐๐๐ คน เป็นเชลยศึก รวมทั้งทรัพย์สินที่ยึดได้นำลงเรือดินทางไปบางกอกด้วย พระยากลาโหมได้นำเชลยชาวปัตตานี ๔,๐๐๐ คนลงเรือไปยังบางกอก ระหว่างเดินทางเชลยบางคนกระโดดจากเรือลงทะเลหลบหนีจะรอดก็มีบ้าง บางส่วนก็ตายในทะเลดังนั้นเพื่อมิให้ชาวปัตตานีกระโดดทะเลหนีทหารสยาม ได้ใช้วิธีร้อยหวายที่เอ็นเหนือส้นเท้าของเชลยเหล่านั้นผูกพ่วงต่อกันหลาย ๆ คน เชลยที่เป็นหญิงจะถูกร้อยใบหูพ่วงไว้เช่นเดียวกัน และให้นั่งอยู่ในเรือเดินทางไปจนถึงบางกอก บางคนเจ็บป่วยล้มตายในเรือระว่างเดินทาง ที่ไม่ตายก็เกิดแผลเป็นฝีหนอง เจ็บป่วยทุกขเวทนาเป็นอย่างยิ่ง
เมื่อถึงบางกอกลูกหลานสุลต่านแห่งปัตตานีก็ได้ถูกนำไปอยู่หลังวัดอนงคารามฝั่งธนบุรีซึ่งบริเวณดังกล่าวเรียกกันว่า บ้านแขกมลายูหรือ “บ้านแขก” ปัจจุบันคือสี่แยกบ้านแขก(บ้านสมเด็จเจ้าพระยาธนบุรี) ส่วนเชลยที่เป็นคนธรรมดาสามัญก็ถูกเกณฑ์ไปใช้แรงงานโดยขุดคลองแสนแสบและจัดที่ให้ทำไร่ทำนารอบ ๆ พระนครเช่นพื้นที่เขต ปทุมธานี หนองจอก มีนบุรี ปากลัดพระประแดง
ลุ่มน้ำเจ้าพระยา สู่ ปากลัด
ชุมชนหรือเรียกชื่อหนึ่งว่าบ้านปากลัด เป็นชุมชนมุสลิมเก่าแก่ที่สุดในจังหวัดสมุทรปราการ พี่น้องมุสลิมที่นี้แบ่งออกเป็น ๒ รุ่น คือ มุสลิมรุ่นแรกอยู่มาตั้งแต่เดิม ก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นมุสลิมที่มีเชื้อสายที่มาจากมะละกา จากประเทศอินเดียซึ่งเดินทางมาค้าขายและปักหลักมาช้านาน บริเวณฝั่งตลาดพระประแดง กระทั่งต้นรัตนโกสินทร์ในสมัยสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยรัชกาลที่ 2 ทรงตั้งเมืองนครเขื่อนขันธ์ขึ้น ใน ปี พ.ศ.๒๓๕๘ ได้โปรดเกล้าให้บุตรชายของพระยาเชยผู้นำมอญที่เข้ามาพึ่งพระโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์สยาม เป็นเจ้าเมืองนครเขื่อนขันธ์ ซึ่งสืบต่อกันมาถึง ๘ คน
มุสลิมชาวอินเดียส่วนหนึ่งได้รับราชการทำงานรับใช้เจ้าเมืองนครเขื่อนขันธ์ ในหน้าที่ดูแลบัญชีตามความถนัดเป็นที่พออกพอใจของเจ้าเมือง ที่ทั้งเก่ง ทั้งขยัน และซื่อสัตย์ ชาวอินเดียที่มาค้าขายและทำงานเกือบทั้งหมดจะมาเฉพาะผู้ชาย เจ้าเมืองเกรงว่าไม่นานพวกนี้ก็จะต้องกลับไป เพราะไม่มีอะไรผูกมัด วันหนึ่งในขณะที่ทั้งชาวมอญ และอินเดียต่างต้องมาเล่าแจ้งแถลงไขถึงงานที่ทำไป ในแต่ละวันให้เจ้าเมืองได้รับทราบ เหล่าข้าราชบริพารมอญที่มาร่วมต่างก็พาลูกสาวมาด้วย เจ้าเมืองเลยเอ่ยปากให้ชาวอินเดียที่รับใช้อยู่นั้นเลือกพวกนางไว้เป็นคู่ครอง ซึ่งเป็นกุศโลบายมิให้พวกนี้ต้องกลับบ้านเพราะไม่มีครอบครัว จากคำบอกเล่าขานกันว่า เสียงร้องของสาวชาวมอญร้องไห้กันระงมเพราะกลัวที่ต้องไปเป็นเมียของพวกแขกที่ทั้งตัวใหญ่และดำมีหนวดยาว แต่ทุกอย่างก็ผ่านด้วยดี จึงจะเห็นได้ว่ากลุ่มมุสลิมชาวอินเดียรุ่นแรก ๆ กับชาวมอญบ้านปากลัดจะเป็นเครือญาติใกล้ชิดกัน เรื่องเหล่านี้ยังพอมีประวัติที่เชื่อถือได้ เพราะยังมีลูกหลานสืบทอดกันจนถึงปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นตระกูล “ยังเจริญ” จากมะละกา หรือตระกูล ไวทยานนท์ สองตระกูลนี้ส่วนใหญ่เข้ารีตศาสนาพุทธ ส่วนตระกูลวงศ์พานิชจากอินเดีย ยังนับถือศาสนาอิสลามอยู่
ส่วนมุสลิมรุ่นที่สองนั้นมาอยู่ในราว ๒๐๐ กว่าปี ช่วงตอนต้นรัชกาล ที่ ๑ ของกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. ๒๓๒๙ ซึ่งเป็นเชลยศึก ที่ถูกจับมาจากเมืองปัตตานี เนื่องจากเจ้าเมืองปัตตานีเป็นฝ่ายแพ้สงคราม เชลยศึกที่นำมาบ้านปากลัดนั้น ส่วนมากจะเป็นคนที่ค่อนข้างมีความรู้ทางด้านศาสนา จากนั้นก็ได้มีญาติพี่น้องจากปัตตานีมาเยี่ยมแต่ไม่ได้กลับไป จนกลายเป็นชุมชนมุสลิมขึ้น คู่กับชาวมอญที่หนีภัยสงครามมาอยู่ที่ปากลัด
สังคมในยุคแรกใช้ภาษามลายูเป็นหลัก เป็นสังคมเกษตร ทำนาทำสวนหาปลา พึ่งพาธรรมชาติ การเดินทางใช้แม่น้ำลำคลองเป็นทางสัญจร จากการที่เป็นเชลยจะทำกิจกรรมบางอย่างทำได้ยาก การรวมตัวกันมากๆ ก็จะถูกทางการเพ่งเล็งตลอดเวลา ด้วยกับสาเหตุที่เป็นเชลยศึกเกรงว่าถ้ารวมตัวกันจะเกิดการแข็งเมืองขึ้นมาอีก
เมื่อเวลาผ่านไปเชลยเหล่านี้เริ่มประกอบสัมมาอาชีพมีที่ทำกินบางคนที่มีความรู้ก็ได้รับราชการเป็นเก็บเบี้ยค่าที่ดินส่งเจ้าเมืองเป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจและสามารถอยู่ร่วมกับชาวมอญได้เป็นอย่างดีกอปรกับมีมุสลิมเดิมที่อาศัยอยู่ก่อนแล้ว การรวมกลุ่มของมุสลิมจึงเกิดขึ้นเป็นชุมชน มีการสร้างมัสยิด โดยการสนับสนุนผ่านการเงินจากกลุ่มพ่อค้ามุสลิมที่มาอยู่ก่อน หรือที่เรียกกันติดปากว่าแขกเก่า ซึ่งมัสยิดหลังแรกเป็นอาคารไม้ชั้นเดียวบนเนื้อที่ ๓๐๐ ตารางวา ที่ได้รับบริจาคจากฮัจยีชาอิ้ล บุตรโต๊ะวังปานา สร้างในปี พ.ศ.๒๔๒๕ และเนื่องจากเชลยส่วนใหญ่เป็นผู้รู้ทางศาสนา จึงมีญาติพี่น้องและลูกหลานจากปัตตานี และรัฐกลันตันของมลายูมาเยี่ยมและมาเล่าเรียนกันมากขึ้น บางส่วนมาแล้วก็กลับไป แต่ก็ยังมีอีกเป็นจำนวนมากที่มาแล้วไม่กลับ เพราะสามารถอยู่มีที่กิน ที่นา สามารถทำมาหากินได้อย่างสบาย ชุมชนมุสลิมบ้านปากลัดจึงเกิดขึ้น และจากการที่มีผู้รู้ทางศาสนา หรือที่เรียกกันว่า “โต๊ะอาเหล็ม” หลายคน จึงมีมุสลิมจากพื้นที่ต่าง ๆ มาเล่าเรียนศาสนาอิสลามกันมาก เล่ากันว่า “ถ้าพายเรือจากต้นคลองเข้าสู่หมู่บ้านแขกจะได้ยินแต่เสียงคนท่องอ่านอัลกุรอานไม่ขาดเสียงตลอดลำคลอง” ดังจะเห็นได้ว่าผู้ที่ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี เกือบทุกท่านต่างก็เคยได้มาเล่าเรียนกับครูบาอาจารย์ในบ้านปากลัดทั้งสิ้น
สังคมมุสลิมให้ความสำคัญและยกย่องผู้รู้ทางศาสนาเป็นอันดับแรก ดังนั้นผู้รู้จากมุสลิมบ้านปากลัดจึงเป็นที่รู้จักในแวดวงมุสลิมมาช้านาน ไม่ว่าจะเป็นแชร์บ๊ะ แชร์ฉ่ำ แชร์ฟา โต๊ะกีดำ ลุงแช่ม หรือฮัจยีแช่ม พรหมยงค์ อดีตจุฬาราชมนตรีท่านแรกในสายซุนนี ฯลฯ และบุคคลเหล่านี้ต่างก็มีลูกศิษย์ลูกหาไปทั่วประเทศ หรือแม้แต่ในต่างประเทศอย่างมาเลเซีย และมหานครมักกะฮฺ ประเทศซาอุดิอาระเบีย และบุคคลเหล่านี้อีกเช่นกันที่ได้สร้างความสัมพันธ์ อันดีกับพี่น้องต่างศาสนิกที่อยู่ รายล้อมไม่ว่าจะเป็นชาวมอญ ชาวไทยพื้นที่ หรือแม้แต่ชาวจีน ซึ่งก็มีอยู่จำนวนมาก ณ ที่นั้น.. จนต่างหล่อหลอมเป็นกลุ่มคนเดียวกันในที่สุด
มุสลิมบ้านปากลัดเป็นกลุ่มคนที่อยู่มาช้านาน ตั้งก่อนมีนครเขื่อนขันธ์ จนมาถึงอำเภอพระประแดง ของจังหวัดสมุทรปราการในปัจจุบัน และเมื่อเวลาผ่านไปนานเข้าจำนวนผู้คนก็มากขึ้น มุสลิมบ้านปากลัดจึงได้มีการอพยพไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ของจังหวัดใกล้เคียง อาทิ อำเภอทุ่งครุ กทม. นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา เพชรบุรี ชลบุรี หรือแม้แต่นครศรีธรรมราช
ในขณะเดียวกันเมื่อเกือบ ๑๐๐ ปี ที่ผ่านมาก็มีมุสลิมอีกจำนวนมากจากที่ต่าง ๆ ทั้ง มีนบุรี ฉะเชิงเทรา นครนายก นนทบุรี อยุธยา ต่างก็อพยพเข้ามาในจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อตั้งหลักปักฐานทำมาหากิน ในอำเภออื่น ๆ ของจังหวัด เช่น อำเภอเมือง บางพลี บางบ่อ สำโรง จึงทำให้จำนวนมุสลิมในจังหวัดสมุทรปราการเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ จนถึงปัจจุบันในจังหวัดสมุทรปราการมีพี่น้องมุสลิมอาศัยอยู่ทั้งที่เป็นสัปปุรุษมีชื่อในทะเบียน และไม่ได้เป็นสัปปุรุษเป็นประชากรแฝงรวมแล้วเกือบ 3 หมื่นคน อาศัยอยู่ใน ๑๓ มัสยิด
เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ที่เมื่อมีการพูดถึงจังหวัดสมุทรปราการ ชุมชนมุสลิมกลับไม่ได้รับการกล่าวขานถึง ทั้ง ๆ ที่เป็นชุมชนเก่าแก่ มีความเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์ของชาติมาโดยตลอด แต่เมื่อพิจารณาแล้วก็คงจะกล่าวโทษใครไม่ได้เพราะแม้แต่พี่น้องมุสลิมในจังหวัดสมุทรปราการเอง ก็แทบจะไม่มีใครรู้ที่มาที่ไปของบรรพบุรุษ ไม่มีแม้แต่ประวัติหรือจะเล่าขานกันต่อ ๆ ไปให้ลูกหลาน ได้รับรู้ หรือได้ภาคภูมิใจ ในความเป็นคนพระประแดง คนสมุทรปราการแต่ก็ยังไม่สายเกินไป ถ้าเราจะหันมาให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ถึงแม้เราจะให้อดีตกลับคืนมาไม่ได้แต่อย่างน้อยที่สุด ประวัติศาสตร์ก็สามารถทำให้เรารู้ได้ว่าเราเป็นใครมาจากไหน และเราสามารถเอาบทเรียนจากประวัติศาสตร์มาเป็นแนวทางสู่อนาคต อย่างน้อยเราจะได้รับรู้ว่าทำไมเราต้องมาอยู่ที่นี่ ทำไมเราไม่ย้ายไปที่อื่น ทำไมบรรพบุรุษของเราถึงอยู่ร่วมกันกับพี่น้องต่างศาสนิก ต่างเชื้อชาติ ได้อย่างดีเหมือนพี่น้องกัน และเหล่านี้แหละจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเราเอง ชุมชนของเรา และประเทศชาติโดยรวม
เมื่อเวลาผ่านไป จากสังคมเกษตรเปลี่ยนเป็นสังคมอุตสาหกรรม วิถีชีวิตของคนในชุมชนก็เปลี่ยนไปด้วย ภาษามลายูที่เคย่ใช้ก็หายไป อาชีพที่เคยพึ่งพาธรรมชาติก็หมดไป เพราะทุกคนต้องแข่งขันกันทำงาน อยู่ในโรงงานอยู่ในสำนักงาน อยู่ในห้างร้านต่างๆ ปัจจุบันได้มีเครื่องมือสื่อสารในการรับรู้มากขึ้น การไปมาหาสู่ และการเยี่ยมญาติเหมือนในอดีตได้ลดน้อยลงไปด้วย