ประมาณเดือนกันยายน 2553 มาดามนูรอฮฺ มุสลิมะฮฺชาวซาอุดิอารเบีย ได้แวะมาเยี่ยมเยาวชนบ้านอัลเกาษัร และได้ปรารภว่า “ถ้ามีที่สักแปลงน่าจะสร้างมัสยิดให้เยาวชนบ้านอัลเกาษัรได้ละหมาด” โดยมาดามท่านนี้แจ้งเจตนารมย์ว่าจะขอร่วมทำบุญหนึ่งล้านบาท
คำปรารภดังกล่าวได้จุดประกายให้ฮัจยีสาโรช สุดใจดีและฮัจยีณัฐวุฒิ ซอหิรัญ ได้หารือกับฮัจยีไพศาล พรมยงค์ ประธานมูลนิธิอัลเกาษัร จึงได้ขอซื้อที่ดินที่ติดกับมูลนิธิซึ่งเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าเนื้อที่ 350 ตารางวา ของฮัจยะห์รุก็อยยะห์ พรมยงค์ ในราคาสามล้านบาท(ที่ดินแปลงนี้ราคาจริงสี่ล้านบาท โดยเจ้าของที่ดินร่วมทำบุญหนึ่งล้านบาท) และฮัจยีไพศาล พรมยงค์ได้วากัฟที่ดินดังกล่าวให้เป็นของมัสยิดอัลเกาษัร
จากจุดเริ่มต้นที่มาดามนูรอฮฺ ได้บริจาคเงินให้หนึ่งล้านบาทเพื่อสร้างมัสยิดหลังเล็ก ๆ ให้เยาวชนอัลเกาษัรละหมาด แต่เมื่อเริ่มปรับถมพื้นที่ก็ต้องใช้เงินจำนวนมาก ทุกคนจึงมีความเห็นว่าน่าจะสร้างมัสยิดให้มีขนาดและรูปแบบที่เหมาะสม จึงได้จัดงานเพื่อระดมทุนและแจ้งให้ผู้ศรัทธาได้รับทราบเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2553
17 สิงหาคม 2554 มัสยิดอัลเกาษัรได้ขึ้นทะเบียนเป็นมัสยิดหลังที่ 13 ของจังหวัดสมุทรปราการ โดยมีฮัจยีสาโรช สุดใจดี เป็นอิมาม ฮัจยีณัฐวุฒิ ซอหิรัญ เป็นคอเตบ และนายสมนึก ผ่องอำไพ เป็นบิหลั่น คณะทำงานทุกคน โดยเฉพาะฮัจยีณัฐวุฒิ ซอหิรัญ และ ฮัจยีสาโรช สุดใจดี รวมถึงคณะทำงานอีกหลายท่านต่างก็ช่วยกันอย่างเต็มที่ จนกระทั่งมัสยิดอัลเกาษัรสามารถเปิดใช้อย่างไม่เป็นทางการในพฤศจิกายน 2554
มัสยิดอัลเกาษัร(ฟาติมะฮฺ บินติรอซู้ล) ปลูกสร้างบนที่ดินเนื้อที่ 180 ตารางวา เป็นอาคารคอนกรีตสองชั้น กว้าง 12.50 เมตร ยาว 16.00 เมตร ชั้นบนเป็นสถาปัตยกรรมร่วมสมัย พื้นและผนังกรุด้วยไม้สักทองทั้งหลัง สามารถจุผู้ละหมาดได้ราว 250 คน(รวมระเบียง) ชั้นล่างเป็นห้องประชุมเอนกประสงค์ติดแอร์ สามารถรองรับผู้เข้าร่วมประชุมได้150 คน ด้านหลังมัสยิดเป็นห้องสุขาและที่อาบน้ำละหมาด งบประมาณในการก่อสร้างรวมทั้งสิ้น หกล้านห้าแสนบาทถ้วน