ชาติพันธุ์มลายู ι ปัตตานีดารุสลาม ι จากปัตตานีสู่ปากลัด ι ตามรอยถิ่นบรรพชน
จากปัตตานีสู่ปากลัด 1 Ι 2 Ι 3 Ι 4 Ι 5 Ι 6
จากปัตตานีสู่ปากลัด 1
ผมอยากจะใช้โอกาสนี้เขียนบันทึกเรื่องราวที่บรรพชนชาวปากลัดได้บันทึกไว้ นำมาถ่ายทอดให้ท่านทั้งหลายได้รับรู้รับทราบ เพื่อที่จะนำท่านทั้งหลายเข้าสู่งานวัฒนธรรมสายสัมพันธ์ไทย-มลายูของศูนย์วัฒนธรรมมุสลิม-มลายูบ้านปากลัด บันทึกนี้ถือว่าเป็นหน้าสำคัญของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของชุมชนบ้านปากลัดอีกหน้าหนึ่ง ที่จะฝากให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาเป็นบทเรียนนอกห้องเรียน
เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า กลุ่มชนใดที่ไม่มีประวัติศาสตร์ ชุมชนนั้นขาดราก(รูทส์) อันเป็นที่มาที่ไป ซึ่งแน่นอนหากขาดอดีต ยากที่จะรู้ว่าปัจจุบันเราเป็นใครมากจากไหน อนาคตคงไม่ต้องพูดถึง อาจจะมีบางท่านคิดว่าประวัติศาสตร์ไม่สำคัญ ถึงขั้นฉีกประวัติศาสตร์ทิ้ง ใครที่มีความคิดเช่นนี้คงไม่ต้องบอกนะครับว่ามีฐานคิดเป็นเช่นไร
ผมเองพยายามที่จะหาว่าคำว่า “ปากลัด” มีที่มาอย่างไร บางก็ว่า มาจากชื่อของการขุดคลองเล็กลัดออกสู่แม่น้ำ ก็แล้วแต่ ส่วนพระประแดง เดิมนั้นชื่อนครเขื่อนขันธ์ พื้นทีตรงนี้กว้างไกลมาก ตามบันทึกของท่านโต๊ะครูฮัจยีอับบาส บินฮัจยีอับดุรเราะฮ์มาน(แชบะฮ์ ปากลัด) ได้มีบันทึกคำว่าพระโขนง ไว้ในบันทึกเครือญาติ ท่านเขียนเป็นภาษายาวีว่า “บะฆันดง” แต่กว่าที่พวกเราจะมาแกะรอยคำนี้ได้ก็ใช้เวลานานมาก บันทึกนี้ต้องขอขอบคุณ คุณอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ท่านกรุณาบอกที่มาของชื่อนี้ว่า มาจากภาษามลายูว่า “ตรึมปัตกรือลัต” อันหมายถึงสถานที่เป็นป่ามืดทึบ ก็เป็นอีกที่มาหนึ่งที่น่าคิด
หลายท่านยังงงๆว่าปากลัดมันอยู่ตรงไหนของประเทศไทย ผมจะแนะนำง่ายๆอย่างนี้ครับ บ้านปากลัด อยู่ในเขตเทศบาลลัดหลวง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ติดต่อกับเขต ทุ่งครุ กรุงเทพฯมหานคร สัปปุรุษของมัสยิดนี้กินไปถึงบริเวณนั้นเลยทีเดียว นั้นคือบางมด สมัยก่อนบ้างก็ขี่ม้า บ้างก็เดิน บ้างก็พายเรือมาละหมาดวันศุกร์ที่บ้านปากลัด จนมีคำเรียกบ้านปากลัดของคนละแวกนั้นว่า “ในบ้าน”
หากเอ๋ยชื่อบุคคลระดับประเทศ แน่นอนว่า แช่ม พรมยงค์ อดีตจุฬาราชมนตรี คือคนปากลัด แต่หากจะเอ๋ยถึงเทศกาลหนึ่งที่คนไทยรู้จักก็คือสงกรานต์พระประแดงหรือสงกรานต์ปากลัด ที่มีเรื่องราวของชนชาติมอญอาศัยอยู่ ใครที่ศึกษาประวัติศาสตร์ น่าจะรู้จัก “พระยาเฉ่ง”ดี ประวัติศาสตร์ปากลัดกับชนชาติมอญดูจะคู่กัน นักประวัติศาสตร์ชั้นนำของไทยเรา เขียนเรื่องราวของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆได้อย่างละเอียด แต่มาถึงปากลัด กลุ่มชาติพันธุ์มลายู มีรายละเอียดแค่มีกลุ่มมุสลิมมลายูมาอยู่ที่นี่กลุ่มหนึ่ง อันเนื่องมาจากสงครามสยาม-ปาตานี แค่นี้จริงๆ ทำไปทำมา กลุ่มชาติพันธุ์มลายูปากลัด ทำท่าจะหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ชาติไทย ทั้งๆที่บุคคลในหน้าประวัติศาสตร์ของปากลัด เป็นถึงอดีตจุฬาราชมนตรี และเป็นหนึ่งในคณะราษฎรสายมุสลิม
กว่าจะมาเป็นศูนย์วัฒนธรรมมุสลิม-มลายูบ้านปากลัด มันมีที่มาที่ไป ผมเองจะขอลำดับเรื่องราวเป็นตอนๆให้ท่านได้รับรู้อาจจะไม่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็น แต่ก็คิดว่าพอจะทำให้ท่านได้นึกภาพออกบ้าง
บุคคลที่เป็นส่วนสำคัญอย่างมากกับประวัติศาสตร์ปากลัดคือโต๊ะครูฮัจยีอับบาสหรือแชบะห์นี่เอง ท่านเป็นอิหม่ามมัสยิดดารอสอาดะห์ บ้านปากลัด ก่อนที่จะมี พ.ร.บ อิสลาม ต่อมาท่านได้รับเลือกตั้งเป็นประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสมุทรปราการ เป็นผู้อาวุโสในหมู่ประธานกรรมการจังหวัดทั้งหมด จึงเป็นผู้มีบทบาทในการเลือกครูต่วน สุวรรณศาสตร์ เป็นจุฬาราชมนตรีโดยจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม ได้ถามท่านถึงผู้ที่มีความเหมาะในตำแหน่งจุฬาราชมนตรีต่วน
ท่านได้เป็นผู้บุกเบิกสร้างมัสยิดดารอสาดะห์จากหลังไม้ (ซึ่งเป็นหลังแรก) ซึ่งทรุดโทรม มาเป็นมัสยิดหลังที่สอง ในยุคสมัยที่การแพทย์ยังไม่เจริญก้าวหน้า บ้านปากลัดได้เกิดโรคห่าหรืออหิวาตกโรคกำลังระบาด ทำให้มีคนล้มตายเป็นจำนวนมาก ตายแบบใบไม้ร่วง ท่านได้นำมวลสัปบุรุษทั้งหลายมาร่วมกันทำการขอดุอาไล่โรคร้าย จนโรคระบาดหายไปจากหมู่บ้าน จนชาวบ้านที่เป็นคนต่างศาสนิกขอร้องให้ท่าน ได้ไปขับไล่ที่หมู่บ้านใกล้เคียงบ้าง เมื่อถึงคราวที่แล้งจัดฝนไม่ตก ท่านได้นำสัปบุรุษทำพิธีละหมาดขอฝน ท่านจึงเป็นที่เคารพนับถือของบุคคลทั่วไปเป็นอย่างดี ส่วนผลงานทางด้านวิชาการของท่าน ท่านก่อตั้งปอเนาะขึ้นที่ปากลัด แต่เป็นปอเนาะที่แปลกกว่าที่อื่น นั้นคือผู้ที่มาเรียน ไม่ได้พักที่ปอเนาะ แต่จะพักตามบ้านญาติพี่น้อง บ้านท่านจึงเป็นสถานที่สอน อัล-กุรอาน ส่วนกีตาบที่ท่านสอนมีทั้งภาษอาหรับและมลายู ท่านเชี่ยวชาญในวิชาอูซูลุดดีน ซึ่งเป็นที่ ยอมรับของนักวิชาการในยุคนั้น ท่านได้ถึงแก่อายัล กลับไปสู่พระผู้เป็นเจ้าในปี พ.ศ.2493 ท่านเป็นลูกของอับดุลเราะฮ์มาน(แชมาน) แชมานเป็นลูกของดอยี
ดอยี(มุฮัมมัด)มีพี่น้องอีกสองคนคือ ดอเมาะฮ์(ฟาติมะฮ์) และโต๊ะวาพะนา ทั้งสามพี่น้องคือบรรพชนที่มาจาก ต.สะนอ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี เมื่อคราวสงครามสยาม-ปาตานี ยุคสมัยรัชกาลที่ 1….ดอยี(ชื่อตามบันทึกแชบะฮ์) มีลูกสองคนคืออับดุลเลาะฮ์(แชแสง) และอับดุลเราะห์มาน(แชมาน) อันเป็นที่มาของชื่อสกุล “แสงมาน” และ “แสงวิมาน”
ดอเมาะผู้เป็นน้องถูกนำไปไว้ที่สวนพริกไทย จ.ปทุมธานี ร่วมกับชาวมอญ ลูกหลานแยกย้ายไปที่คลองบางโพธิและคลองหนึ่ง และที่อื่นๆอีก บาบอมุฮัมมัด(บาบอมะ) อาดำ จากปอเนาะบืรมิง ก็มาจากสายนี้ ส่วนดอยี(มุฮัมมัด) อยู่ที่ปากลัด อยู่ร่วมกับชาวมอญเช่นกัน
ที่ผมต้องกล่าวถึงแชบะห์ เพราะหากไม่มีท่านเราคงไม่มีศูนย์วัฒนธรรมฯแน่นอน …..พบกันตอนต่อไปนะครับ
ชาติพันธุ์มลายู ι ปัตตานีดารุสลาม ι จากปัตตานีสู่ปากลัด ι ตามรอยถิ่นบรรพชน
จากปัตตานีสู่ปากลัด 1 Ι 2 Ι 3 Ι 4 Ι 5 Ι 6